top of page

Cairo, Egypt

เดินทางช่วงธันวาคม 2018 ระยะเวลา 3 วัน

เป็นส่วนหนึ่งของทริปยาว 12วันที่อียิปต์ อ่านเกี่ยวกับอียิปต์แบบเต็มที่ https://www.gooutseeworld.com/post/egypt

Cairo, Egypt

ไคโรเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากที่สุดในโลกอาหรับและเป็นเมืองหลวงของอียิปต์ เป็นเมืองที่มีความวุ่นวาย แออัดและมลภาวะพิษ เต็มไปด้วยตึกสูงที่เหมือนสร้างไม่เสร็จ สาเหตุเพราะต้องเสียภาษีถ้าสร้างเสร็จ ฉะนั้นเมืองหลวงที่มีคนถึง 30ล้านคนนี้จึงเต็มไปด้วยแท่งตึกที่สร้างไม่เสร็จ มองไปน่าเกลียดมากเลยทีเดียว และด้วยจำนวนคนที่เยอะมากถนนหนทางจึงเต็มไปด้วยผู้คน รถติดตลอดเวลา แม้ทางด่วนมีถึง 8 เลน เราจะเห็นคนและสัตว์เดินกันตามข้างทางตลอด ซึ่งเป็นภาพที่ช็อคมากสำหรับนักท่องเที่ยวที่จินตนาการอียิปต์ไว้อีกอย่าง

Cairo, Egypt

อันที่จริงไคโรมีประวัติที่น่าสนใจไม่แพ้ส่วนอื่นๆ ของอียิปต์ ด้วยความที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Memphis เมมฟิสซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมในยุคโบราณ(ก่อนคริสกาล)ของอียิปต์ และตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมแม่น้ำไนล์ จึงมีชาวโรมันมาสร้างบ้านเรือนอยู่ในไคโรตั้งแต่ 600 ปีก่อนศริสกาล โดยซากโรมันโบราณยังมีให้เห็นอยู่ในไคโร จาก Roman โรมันเข้าสู่ยุค Byzentine ไบเซนไทน์ และเข้าสู่ยุคชาวอาหรับเข้าปกครองในศตวรรษที่ 7 และจนถึงศตวรรษที่ 12 ไคโรยังเป็นที่อยู่ของคนต่างถิ่นที่เข้ามาตั้งรกรากอย่างต่อเนื่อง แต่หลังสงคราม Crusade ครูเซต เมืองหลวงในขณะนั้นของอียิปต์ Fustat ถูกเผาวอด จึงย้ายเมืองหลวงมาที่ไคโรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1168 ภายหลังอียิปต์สูญเสียความสำคัญในฐานะเส้นทางการค้าเมื่อ Vasco da Gama นักเดินเรือชาวโปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือผ่านแหลม Good Hope ในแอฟริกาใต้ และเส้นทางการค้าของโลกเบี่ยงไปเป็นการเดินเรือในมหาสมุทรแทน อียิปต์ตกต่ำลงหลังจากนั้น และกลายมาเป็นเพียงเขตหนึ่งใน Ottoman จักรวรรดิออตโตมาน จนถึง ค.ศ. 1798 นโบเลียนเข้ายืดอียิปต์ ถือเป็นช่วงสิ้นสุดของการปกครองโดยออตโตมาน จากนั้นอียิปต์เข้าสู่ช่วง modernization พัฒนาประเทศเพื่อให้ทัดเทียมกับชาติอื่นๆ การทุ่มเทสร้างสิ่งต่างๆนี้ทำให้ประเทศเป็นหนี้มหาศาล จนต้องปล่อยให้ชาติยุโรปเข้ามาแบ่งผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะอังกฤษที่เข้ามาปกครองเหมือนที่ทำกับอินเดีย จนท้ายสุดเกิดเป็นการประท้วงทั่วประเทศ และอียิปต์ประกาศอิสระภาพในปี ค.ศ. 1922

Cairo Metro, Egypt

ประวัติศาสตร์เหล่านี้ทิ้งร่องรอยไว้ในไคโรเป็นโบราณสถานที่เหลือจากยุคต่างๆ ซึ่งหลังจากอ่านประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอียิปต์แล้ว อยากเห็นเลยว่าหลังจากยุคฟาโรห์แล้ว อียิปต์มีสิ่งก่อสร้างอะไรบ้าง โดยเริ่มจากการไปเยือน ส่วน Coptic Cairo ซึ่งเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดในไคโร มีประวัติย้อนไปถึงตอนสร้างเมืองในยุคกรีก-โรมันเลยทีเดียว


Babylon Fortress

Babylon Fortress, Cairo, Egypt

ป้อมแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เก่าแก่ที่สุดในไคโร สร้างโดยชาวโรมันตั้งแต่ราว 600 ปีก่อนศริสกาล ตอนที่สร้างที่ตรงนี้ติดกับแม่น้ำไนล์ที่ในยุคนั้นไหลผ่านจุดนี้ แต่ปัจจุปันเปลี่ยนเส้นทางถอยห่างออกไปอีก 400 เมตร มีทหารประจำอยู่ 3 กอง ถือเป็นสถานที่บัญชาการหลักที่ทางโรมมันส่งมาคอยควบคุมอียิปต์ และเมื่อเข้าสู่ยุคไบเซนไทน์ป้อมนี้ก็เป็นปราการหลักในการทหารต่อมา จนถึง ค.ศ. 640 Amr ibn al-As al-Sahmi พาชาวอาหรับบุกยืดป้อมนี้สำเร็จและเข้าสู่ยุคการปกครองของอาหรับ จากนั้นเมื่องถึงขยายออกไปมากขึ้น


Hanging church/

Saint Virgin Mary's Coptic Orthodox Church

เมื่อตั้งป้อมแล้ว ในช่วงหลายร้อยปีต่อมาเขตบริเวณ Babylon Fortress มีครอบครัวชาวโรมันจากที่ต่างๆเข้ามาอยู่มากขึ้น และหนึ่งในครอบครัวที่ย้ายเข้ามาคือพระเยซูและพระแม่ ซึ่งหลบหนีเข้ามาจากการตามไล่ฆ่า และซ้อนคัวอยู่ในอียิปต์ถึง 2ปี ในช่วงที่พระเยซูยังแบเบาะ ฉะนั้นภายหลังจึงมีการสร้างโบสถ์ที่ตรงนี้ในศตวรรษที่ 3 และมีการสร้างใหม่อีกครั้งในศตวรรษที่ 10 ถือเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปแอฟริกา ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ประทับของ Coptic Pope ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาคริสในแอฟริกาอีกด้วย

ที่มีชื่อว่า Hanging Church เป็นเพราะโบสถ์นี้สร้างคร่อมส่วนหนึ่งของป้อม Babylon Fortress ซึ่งถูกทิ้งร้างช่วงหนึ่ง เฉกเช่นที่เกิดขึ้นกับเมืองอื่นๆในอียิปต์ที่เมืองถูกฝังกลบด้วยทราย โดยในตอนก่อสร้างไม่มีคนรู้ว่าด้านล่างมีซากของป้อมอยู่ลึกลงไป 6 เมตร พอก่อสร้างเสร็จจึงพบว่าด้านล่างเป็นป้อม ทำให้ส่วนของโถงกลางโบสถ์เหมือนถูกแขวนบนป้อม จึงเรียกโบสถ์นี้ว่า Hanging Church

ผนังด้านนอกโบสถ์มีงานโมเสกที่ทำเป็นนิทานเกี่ยวกับศาสานคริสติ์ สีสวยสดและน่ารักมากๆ ถ้าจะว่าไปชอบส่วนนี้ที่สุดจากทุกสถานที่ๆไปเยือนในระแวกนี้ สำหรับชาวคริส โดยเฉพาะ Orthodox จะต้องเข้ามาสักการะที่โบสถ์นี้ แต่อย่างไรก็ดี เราจะเห็นชาวตะวันตกมาเที่ยวบริเวณนี้เยอะมาก เพราะเขาสนใจในเรื่องราวของ Holy Family ครอบครัวพระเยซู


Saint Sergius and Bacchus Church

Saint Sergius and Bacchus Church, Coptic Cairo, Egypt

ตัวโบสถ์สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 5 แต่ถูกเผาและสร้างใหม่ในศตวรรษที่ 8 แม้จะถูกบูรณะและสร้างใหม่บ่อยครั้ง แต่โบสถ์นี้ยังคงความสไตล์ Coptic Cairo ไว้มาก โบสถ์เหมือนได้รับอิทธิพลจากโลกอาหรับ มีกำแพงไม้ฉลุลายศิลปะแบบอาหรับ และงานไม้อื่นๆก็เป็นสไตล์เดียวกัน

ชั้นใต้ดินบริเวณที่เชื่อว่าพระเยซูสมัยที่ยังเป็นทารกเคยอาศัยอยู่ St.Sergius and Bacchus Church, Coptic Cairo, Egypt

เชื่อว่าจุดที่ตั้งของโบสถ์นี้ คือจุดที่ Holy Family ครอบครัวพระเยซูเคยอาศัยอยู่ ช่วงที่ลี้ภัยในอียิปต์ ฉะนั้นคนที่มาเยี่ยมที่โบสถ์จะลงไปด้านล่างของโบสถ์เพื่อเยี่ยมชมจุดที่พระเยซุที่เป็นทารกน้อยอาศัยอยู่ ซึ่งค่อนข้างอับทีเดียว ทำให้เรารู้ว่า ท่านน่าจะลำบากมากในการต้องใช้ชีวิตในที่ที่คับแคบ

นอกจากงานไม้ต่างๆที่เห็นได้ชัดว่าเป็นแบบอาหรับแล้ว ยังมีการตกแต่งด้วยภาพวาดสไตล์ Romanesque มากมาย เป็นภาพนิทานเกี่ยวกับศาสนาคริสต์


Coptic Cairo

การเดินเล่นแถวนี้จะพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในซอยแคบที่มีกำแพงหรือตึกตีคู่อยู่สองข้าง แต่ส่วนตัวคิดว่าบริเวณนี้น่าจะถือว่าน่าอยู่สำหรับไคโร เพราะดูเป็นระเบียบเรียบร้อย และตึกก็ไม่ได้ถูกทิ้งให้ดูเหมือนสร้างไม่เสร็จ แถมยังมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินด้วย ซึ่งในทวีปแอฟริกา มีเพียง 2 ประเทศ อียิปต์และอัลจีเรียเท่านั้นที่มีรถไฟฟ้าใต้ดิน ร้านค้าในบริเวณนี้เน้นขายพวกงานศิลปะเกี่ยวกับศาสนาคริส ทั้งยังมีแผงหนังสือขนาดใหญ่ตียาวตามซอย ซึ่งขายหนังสือเกี่ยวกับอียิปต์อีกด้วย หนังสือเหล่านี้ชาวอเมริกันและอังกฤษชอบซื้อสะสม เราก็ได้มาเล่มหนึ่ง The Cairo Trilogy เขียนโดย Naguib Mahfouz (1911-2006) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอียิปต์ หนังสือหนาหลายร้อยหน้าอยู่


Amr Ibn Alas Mosque

Amr Ibn Alas Mosque, Cairo, Egypt

เมื่อจบยุคไบเซนไทน์ ชาวอาหรับเข้ามามีอิทธิพลในอียิปต์ และศาสนาอิสลามก็เข้ามาแทนที่ จึงมีการสร้างมัสยิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 7 ซึ่ง Amr Ibn Alas Mosque เป็นมัสยิดแรกและถือเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในอัฟริกา แต่ด้วยความที่ยังมีการประกอบพิธีทางศาสนาทุกวันมาตั้งแต่ ค.ศ. 642 จึงมีการสร้างต่อเติม และบูรณะเพิ่มเติมหลายต่อหลายครั้ง จนปัจจุปันไม่เหลือเคร้าโครงเดิมเลย ก็น่าเสียดายอยู่

สำหรับตัวเอง รู้สึกว่ามัสยิดนี้ให้ความรู้สึกสบายดี ไม่เหมือนบางประเทศที่ไม่อนุญาติให้คนต่างศาสนาเข้า ที่มัสยิดนี้เข้าได้ทุกคน และยังมีเสื้อคลุมเตรียมให้นักท่องเที่ยวใส่คลุมด้วย สีสันสดใสมาก และก็ดีเพราะเวลาหันไปเห็นคนที่ใส่เสื้อคลุมสีเขียวสด จะรู้เลยว่าเป็นนักท่องเที่ยว

Amr Ibn Alas Mosque, Cairo, Egypt

Salah El Din Citadel/Cairo Citadel

Cairo Citadel, Cairo, Egypt

ป้อมปราการนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1182 และเป็นศูนย์กลางของผู้ปกครองอียิปต์จนถึง ค.ศ. 1860 สร้างโดย Salah El Din ซาลาดิน ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ Ayyubid ซึ่งปกครองพื้นที่อียิปต์ นูเบีย ตูนีเซีย และกว่าครึ่งของโลกอาหรับ เป็นผู้พิชิตที่น่าเกรงขามและหวั่นเกรงของประเทศต่างๆ เขายังเป็นแกนนำในสงครามครูเสตที่ทำให้ฝ่ายอิสลามเข้ายืดเยรูซาเลมไว้ได้ แต่เสียดายที่เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 56ปีจากโรคติดต่อ มีภาพยนต์มากมายที่สร้างเกี่ยวกับบุคคลในตำนานนี้ ราชวงศ์ Ayyubid อยู่ต่อมาอีกเพียง 70ปีก็ล่มสลาย แต่ป้อมปราการนี้ถูกใช้เป็นศูนย์กลางการปกครองต่อมาอีกหลายราชวงศ์ กว่า 600ปี

เป็นที่น่าเสียดายที่อาคารเก่าส่วนใหญ่ถูกทุบทิ้งและสร้างใหม่โดย Muhammad Ali Pasha ซึ่งเป็นผู้ปกครองอียิปต์ภายใต้อาณาจักร Ottoman Empire ออตโตมาน ในศตวรรษที่ 19 หลายอย่างในนี้จึงได้สร้างตามแบบของสถาปัติยกรรมเติร์กจาก Istanbul อิสตันบูล ประเทศตรุกี ปัจจุปันป้อมนี้ไม่ได้เป็นรัฐสภาแล้ว แต่ UNESCO ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก

Muhammad Ali Mosque เป็นอาคารส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุดในป้อมนี้ เพราะมัสยิดนี้ถอดแบบมาจาก Sultan Ahmed Mosque หรือ Blue Mosque ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ของอิสตันบูล แต่ทำด้วยหิน alabaster เศวตศิลา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าออตโตมานมีอำนาจเหนืออียิปต์ รายละเอียดภายในมัสยิดเหมือนที่ Blue Mosque มากด้วยพอๆกับภายนอก แสดงให้เห็นว่าราชวงศ์นี้เป็นหุ่นเชิดของจักรวรรดิออตโตมัน

หอนาฬิกา Cairo Citadel, Cairo, Egypt

และอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องไปดูในป้อมนี้คือหอนาฬิกาซึ่งอยู่ตรงข้ามหอสวดมนต์ ซึ่งมีนาฬิกาสล์ฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ฟิลลิป King Luis Philip of France มอบให้เป็นการแลกเปลี่ยนกับเสาโอบีลิส Obelisk ซึ่งปัจจุปันตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ลาน Place de la Concorde กลางกรุงปารีส ที่น่าสนใจคือนาฬิกานี้ตั้งแต่ได้รับมอบมา ไม่เคยเดินตรงเลยแม้แต่วันเดียว

อ่านเรื่องเกี่ยวกับเสาฌอบีลิสได้ใน

ป้อมไคโรนี้ตั้งอยู่บนเนินที่สูงที่สุดในไคโร จึงเป็นจุดที่เหมาะกับการมองดูวิวกลางกรุงไคโร และจากจุดนี้สามารถมองเห็นมหาปีรามิดแห่งกีซ่าได้ด้วย แต่ทิวทัศน์ไม่สวยเลย ขมุกขมัวเต็มไปด้วยฝุ่นละออง และตึกส่วนใหญ่ก็ทิ้งไว้ให้เหมือนสร้างไม่เสร็จ ทำให้ดูแล้วไม่เจริญตา


Sultan Hassan Mosque/

Mosque-Madrassa of Sultan Hassan

ไม่ไกลจาก Cairo Citadel คือที่ตั้งของมัสยิดขนาดใหญ่สร้างเสร็จในปี 1363 โดย Sultan an-Nasir Hasan ซึ่งเป็นสุลต่านในราชวงค์ Mamluk ราชวงศ์นี้มีความน่าสนใจมาก เพราะเดิมเป็นทาสชาวเติร์กพื้นเพมาจากเอเชียกลาง เข้ามารับใช้เป็นทหารส่วนตัวซาลาดินผู้สร้าง Cairo Citadel ทาสทหาร Mamluk ถูกเทรนด์ใช้แทนทหารแอฟริกันผิวดำในราชสำนักอียิปต์ โยทาสเหล่านี้ถูกซื้อมาขณะเป็นเด็กชาย ฝึกให้อ่านออกเขียนได้ เรียนวิชาการต่อสู้ มารยาทการเข้าสังคมและเข้ารีดเป็นสุนีย์มุสลิม เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็ถูกปลดให้เป็นอิสระ แต่ขึ้นกับเจ้านายที่ซื้อมาชุบเลี้ยง และถูกวางทำงานสำคัญต่างๆให้เจ้านาย โดยทาสเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นเสมือนญาติมากกว่าทาสรับใช้ทั่วไป เพราะถูกชุบเลี้ยงแต่เด็ก

ซึ่งในราชวงศ์ Ayyubid หลังจากการตายของซาลาดินซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ก่อนวัยอันควร ก็เกิดการแย่งชิงอำนาจครั้งใหญ่มีการฆ่ากันในหมู่ญาติ และทุกครั้งที่ชิงอำนาจมาได้ก็โอน Mamluk จากนายเก่ามาต่อไป สาเหตุก็เพื่อให้ไม่เกิดความระส่ำในการปกครอง เพราะ Mamluk มีตำแหน่งใหญ่โตกุมหน้าที่สำคัญที่เจ้านายมอบหมายให้ การโอนเข้ามาเท่ากับได้โอนอำนาจเข้ามาด้วย แต่นานวันเข้า การรวม Mamluk จากหลายสายเข้าก็กลายเป็นการมี Mamluk เต็มราชสำนัก และก่อให้เกิดรัฐประหารจน Mamluk ยืดอำนาจเสียเองและสิ้นราชวงศ์ในที่สุด

การสร้างมัสยิดนี้ใช้เวลาเกือบ 8 ปี โดยใช้เงินกว่า 2-3หมื่นดีนาต่อวันเป็นค่าแรง ซึ่งถือเป็นโครงการก่อสร้างที่แพงที่สุดในยุค Medieval Egypt เลยทีเดียว เมื่อสร้างเสร็จถูกมองว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่เทียบเขียงปีรามิดที่กีซ่าเลยทีเดียว จากการออกแบบที่ผสมผสานความรู้และช่างฝีมือจากทุกที่ในโลกอาหรับยุุคนั้น แม้ในระหว่างการก่อสร้าง อียิปต์กำลังประสบปัญหาเศรฐกิจอย่างหนัก แต่ได้สมบัติที่ยืดได้จากเหล่าขุนนางที่ตายจากการระบาดของกาฬโรคมาอุดหนุนจึงสร้างเสร็จ ที่น่าสนใจคือ ในช่วงศตวรรษที่ 14-16 ซึ่งมีการระบาดในอียิปต์ถึง 50ครั้ง คร่าชีวิตชาวไคโรไปกว่าล้านคน เมื่อสิ้นโรคระบาดมีชาวเมืองเหลืองอยู่เพียง 150,000ตนเท่านั้น

Sultan Hassan Mosque, Cairo, Egypt

มัสยิดนี้ถูกออกแบบมาให้มีส่วนที่เป็นสุสานเพื่อไว้เก็บศพของ Sultan an-Nasir Hasan ซึ่งเป็นผู้สร้าง แต่กลับไม่มีศพของเขา นี่เป็นเพราะว่าซุลต่านถูกฆ่าตายด้วยอายุเพียง 27ปี ในขณะที่ยังสร้างมัสยิดไม่เสร็จ โดยแม่ทัพคู่ใจที่เอาศพไปทิ้งจนหาศพไม่เจอ สาเหตุมาจากการที่ Sultan an-Nasir Hasan ใช้จ่ายสุรุยสุร่าย สร้างมัสยิดใหญ่โตเกินกำลัง และใช้เงินปรนเปรอนารีและใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทั้งที่ประเทศชาติประสบปัญหาเศรฐกิจอย่างหนัก

Sultan Hassan Mosque, Cairo, Egypt

Al Refaie Mosque

Al Refaie Mosque, Cairo, Egypt

Al Refaie ตั้งอยู่ติดกับ Cairo Citadel หรือ Salah El Din Citadel เป็นมัสยิดที่สร้างโดย Khedive Isma'il Pasha ผู้นำอียิปต์ในราชวงศ์ Muhammad Ali ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของจักรวรรดิออตโตมัน แต่ขณะนั้นจักรวรรดิออตโตมันอ่อนแรงไม่มีกำลังมาควบคุมอียิปต์ เป็นจังหวะที่ Khedive Isma'il Pasha ผู้โตมาในยุโรปมีความคิดพยายามพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับโลกตะวันออก มีการก่อสร้างสมัยใหม่มากมายในเวลาเดียว จนทำให้ประเทศเป็นหนี้มากมาย ทำให้ต้องขายสิทธิใน Suez Canal คลองซูเอตซึ่งน่าจะเป็นรายได้มหาศาลให้แก่อียิปต์ให้แก่อังกฤษ และถูกอังกฤษบังคับให้สละบัลลังก์ให้พระโอรสขึ้นแทน ในปี ค.ศ. 1879

มัสยิดนี้เดิมสร้างเพื่อพระมารดาของพระองค์และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1869 แต่ถูกเอามาต่อเติมอีกในปี ค.ศ. 1912 เพื่อเพิ่มส่วนที่เป็นสุสานราชวงศ์ Muhammad Ali ในการออกแบบมัสยิดนี้ สถาปนิกได้ออกแบบให้ภายนอกดูกลมกลืนกับ Sultan Hassan Mosque ที่อยู่ด้านข้างซึ่งสร้างมาก่อนหลายร้อยปีเพื่อความกลมกลืนกับสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ขนาด Sultan Hassan Mosque ซึ่งแง่นี้เรากลับไม่ค่อยเห็นทำกันในการออกแบบตึกหลายที่ที่อยู่ติดกับสถานที่สำคัญ ถือว่าผู้ออกแบบคิดได้ละเอียดรอบคอบ

ภายในมัสยิดนี้เป็นโครงสร้างสไตล์อิสลามที่งดงามมากที่สุดในไคโร แม้หลายคนจะคิกว่าด้านในค่อนข้างมืด เพราะแบ่งเป็นหลายชั้นมากจากการใช้ฉากกั้น สำหรับชาวอิสลามการได้ละมาดพร้อมกันยิ่งเยอะ ยิ่งถือเป็นบุญมาก ฉะนั้นเราจึงเห็นว่าตามมัสยิดจะเหลือที่ส่วนกลางเป็นลานโล่งๆ และลดความแออัดด้วยการใช้เพดานสูง


Egyptian Museum, Cairo

Egyptian Museum, Cairo, Egypt

พิพิธภัณฑ์อียิปต์ในไคโรเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดในไคโรก็ว่าได้ เพราะรวมสมบัติล้ำค่าจากทุกสุสาน ทุดหุบเขา ว่ากันว่าพิพิธภัณฑ์นี้มีวัตถุยุคอียิปต์โบราณจำนวนถึง 170,000 ชิ้น จากที่วางกันแน่นพื้นที่ไปหมดแล้ว ยังไม่ได้นำออกมาแสดงอีกกว่า 3 หมื่นชิ้นซึ่งเป็นชิ้นใหญ่ๆ จึงมีแผนก่อสร้าง Grand Egyptian Museum ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาปีรามิดกีซ่าเพื่อจัดแสดงงานที่ยังไม่ได้ออกมาจัดแสดงเหล่านี้ โดยเฉพาะพวกชิ้นใหญ่ๆที่ว่า และมีกำหนดเปิดต้นปี 2021

สำหรับคนที่คลั่งไคล้อียิปต์โบราณ ไม่ว่าจะเพราะดูหนังเรื่อง The Mummy โดย Brandon Fraiser หรือโดย Tom Cruise หรือเพราะอ่านการ์ตูนเรื่องคำสาบฟาโรห์ พิพิธภัณฑ์อียิปต์มีความสำคัญที่ต้องใช้เวลาเยี่ยมชมอย่างละเอียด เพราะอัดแน่นด้วยสมบัติที่เอามาจากส่วนปีรามิดและวิหารต่างๆทั่วอียิปต์ เรียกว่าถ้าเราพลาดการเที่ยวส่วนใดในทริป ก็เก็บตกมันที่เดียวเลยในพิพิธภัณฑ์ไคโร Egyptian Museum

ตัวพิพิธภัณฑ์อียิปต์เป็นอาคาร 2 ชั้นและมีความโบราณมากเพราะเปิดมาตั้งแต่ปี 1901 เวลาเดินในพิพิธภัณฑ์จะมีความรู้สึกเหมือนอยู่ในฉากหนัง ตัวพิพิธภัณฑ์ก็คือพิพิธภัณฑ์เลย ชั้นล่างจัดแสดงศิลปะเรียงตามยุคสมัยของอียิปต์โบราณ คือ Old Kingdom ราชอาณาจักรเก่า Middle Kingdom ราชอาณาจักรกลาง และ New Kingdom ราชอาณาจักรใหม่

ส่วนชั้น 2 จัดแสดงสมบัติจากสุสานต่างๆ ที่สำคัญคือสมบัติของ Tutankhamun ตุตันคามุน ซึ่งมีห้องจัดแสดงเฉพาะตระการตามากกับจำนวนทองคำ ซึ่งว่ากันว่าเป็นสมบัติที่มาจากสุสานที่เล็กที่สุดใน Valley of the Kings หุบเขาแห่งกษัติย์ที่ Luxor เมืองลักซอร์ แต่เพราะไม่ได้ถูกโจรกรรมจึงถูกเก็บไว้อย่างสมบูรณ์จนขุดพบโดย Howard Carter ในปี 1922 ซึ่งเรื่องราวการขุดพบนี้ นอกจากจะทำให้อียิปต์ขึ้นไปอยู่บนรายชื่อประเทศที่ต้องไปเยี่ยมสักครั้งในชีวิตของนักเดินทางแทยทุกคนแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนนวนิยายและบทหนังมากมายตามมา

ห้องสำคัญอีกห้องในชั้นที่ 2 คือห้องเก็บมัมมี่ของฟาโรห์ที่มีชื่อเสียง เช่น รามเสสที่ 2 ซึ่งต้องเสียค่าผ่านประตูต่างหากและไม่สามารถถ่ายรูปได้ ส่วนตัวเป็นคนที่สนใจมัมมี่มาก ต้องบอกว่าเป็นห้องจัดแสดงที่เรียบง่ายมากและสามารถชมมัมมี่ได้อย่างใกล้ชิดมากเลยทีเดียว เนื่องจากมัมมีถูกจัดวางในตู้แก้วสูงระดับเอว ด้านบนเป็นกระจกครอบมัมมี่ไว้เท่านั้น เราจึงสามารถก้มดูได้ในระยะใกล้มาก คนเข้าชมไม่มาก และไม่แออัดเหมือนส่วนชั้นล่างและห้องตุตันคาเมน คิดว่าคนทั่วไปคงไม่ได้พิสมัยมัมมี่มากนัก แต่ส่วนตัวรู้สึกสนใจและชอบมองดูโลงบรรจุกับมัมมี่มากๆ ตั้งแต่เห็นครั้งแรกที่ British Museum จะว่าไปรู้สึกว่าที่ British Museum ในลอนดอนจะมีมัมมี่มากกว่าที่นี่อีก

ในแต่ละวันมีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ไคโรมากถึง 4-5 หมื่นคน คนส่วนใหญ่จะเข้าชมแค่ห้องสมบัติ Tutankhamun และพื้นที่แถวโถงกลางชั้นล่างเล็กน้อย เพราะเป็นโปรแกรมทัวร์ ซึ่งมีเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง อันที่จริงสมบัติทุกชิ้นในนี้ล่ำค่าและสวยงามน่าฉงน สวยและอยู่ในสภาพที่เราไม่เชื่อว่ามันมีอายุหลายพันปีแล้ว


Khan El-Khalili bazaar

สุดท้ายเราคงจากไคโรไปไม่ได้โดยที่ไม่ได้ไปเดินเที่ยวใน Khan El-Khalili Bazaar ที่ตลาดอายุพันปีกลางไคโร ตลาดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 970 พอพอกับช่วงที่ไคโรขึ้นเป็นเมืองหลวงของอียิปต์ต่อจาก Alexandria อเล็กซานเดรีย ซึ่งเริ่มในราชวงศ์ Fatimid ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มาจากอาหรับ ปกครองทะเลแดงและแอฟริกาเหนือทั้งหมด

เดิมที่ไคโรเป็นเมืองปิดที่ไม่อนุญาติให้คนนอกราชวงศ์เข้ามาอยู่ แรกเริ่มให้สร้างพระราชวัง 2 หลัง ตะวันออกและตะวันตก ส่วนของ Khan El-Khalili Bazaar เป็นส่วนด้านใต้ของพระราชวังตะวันออก ซึ่งมีสุสานของราชวงศ์อยู่ด้วย จนถึงปี ค.ศ. 1171 ที่ซาลาดินเข้ามายืดไคโร ถึงอนุญาติให้มีประชาชนเข้ามาอาศัยในไคโรได้ และซาลาดินก็สร้างป้อมปราการขึ้นเป็นทั้งราชวังและที่รัฐสภาแทนราชวังเดิม

ในยุคที่ราชวงศ์ Mambuk มีองค์กรเพื่อการกุศลของอิสลามเกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในองค์กรนี้ได้สร้าง qaysariyya ซึ่งเป็นตลาดที่แบ่งแผงขายของเป็นห้องๆ (ซึ่งคือการสร้างห้องแถวแบบบ้านเรา) เพื่อเป็นการหารายได้ โดยทีแรกเป็นแค่แผง ต่อมาสร้างเป็นตึกเพราะสะดวกในการนับและเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่นั้นมาส่วนของตลาดตรงนี้ก็ถูกแบ่งเป็นห้องแบบมีระเบียบ และจนถึงศตวรรษที่ 14 Sultan Barquq สุลต่านบาร์คได้สั่งทุบสุสานเก่าและสร้างตลาดนี้ใหม่ให้แบ่งส่วนชัดเจน และตั้งชื่อเขตนี้ใหม่เป็นชื่อ Khan El-Khalili ดังที่เห็นในปัจจุปัน

แม้จะเทียบความตื่นตาตื่นใจกับตลาด Grand Bazaar ใน อิสตันบูลไม่ได้ แต่ถือว่ายังควรเดินเที่ยวอยู่ ตลาดนี้ในช่วงทางเข้าจะขายของที่ออกไม่น่าสนใจ พวกของฝากทั่วไป แต่ด้านในจะมีแบ่งเป็นโซนอยู่ อารมณ์คล้ายจัตุจักรเรา มีร้านทั้งน่าสนใจและพื้นๆปนกัน แนะนำให้เดินลึกๆหน่อย แต่ต้องต่อราคาเยอะมากจนปวดหัว หรือจะปลีกตัวไปนั่งร้านกาแฟแบบอาหรับก็สนุกสนานไม่น้อย

ที่ตลาดนี้เคยเกิดเหตุการณ์ระเบิดโดยกลุ่มก่อการร้ายในปี ค.ศ. 2005 มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 6 คนและชาวอีิปต์อีก 11คน ซึ่งเป็นฉนวนทำให้นักท่องเที่ยวหายฮวบไปจากอียิปต์ และมีเหตุก่อการร้ายอีกครั้งในปี 2009 ที่ตลาดนี้อีก ทำให้อียิปต์สูญเสียนักท่องเที่ยวไปอีกระลอก เหตุการณ์ความไม่สงบในอียิปต์มีอยู่เป็นช่วง ทำให้สูญเสียนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ


อ่านเกี่ยวกับอียิปต์แบบเต็มที่ https://www.gooutseeworld.com/post/egypt

 

เกร็ดน่ารู้

Tipping / การให้สินน้ำใจ

นักท่องเที่ยวส่วนมากที่ไปเที่ยวอียิปต์จะไปเพียงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเช่นชมปีรามิดในกีซ่า ล่องแม่น้ำไนล์ และเมืองโบราณลักซอร์ และเท่าที่รู้ไม่ค่อยมีคนไปแล้วไปอีก ครั้งเดียวก็พอแล้ว เพราะนอกจากความแออัดในเมืองหลวง ความปลอดภัยบนท้องถนน และสาธนประโภคที่แย่มาก (พอๆกับอินเดียที่ไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้า) ยังมีเรื่องความไม่เป็นมิตรของชาวเมือง นักท่องเที่ยวเจอการเรียกเก็บค่าสินน้ำใจจากการให้บริการที่ไม่รู้ตัวว่าถูกบริการ เช่นช่วยเข็นกระเป๋าในสนามบิน จูงข้ามถนนที่ขับรถกันเหมือนโจรหนีตำรวจ พาไปชี้ห้องในแหล่งท่องเที่ยวให้ดู หรือเด็กที่เข้ามาโพสต์ในภาพให้เราถ่ายรูป ซึ่งทำให้เสียความรู้สึกมาก เพราะคนที่มาขอเราจะมีเด็กเล็กน่ารัก และตำรวจซึ่งควรจะดูแลความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย วิธีที่จะจัดการกับปัญหานี้คือ ถามไกด์ว่าแต่ละที่จะโดนอะไรบ้าง ตัดสินใจตามความเหมาะสมแล้วเตรียมเงินเศษไว้แจกเลย ไหนๆก็โดนไถ่แน่นอน เสียอารมณ์เปล่าๆ ถ้าต้องไปเถียงอีก หรือสั่งให้ไกด์ทำหน้าที่จ่ายแทนไปเลย ลดการสัมผัสกับส่วนที่มาพึ่งปารถนา


การก่อการร้าย

เหตุไม่สงบมีมาเรื่อยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ผู้ก่อการร้ายวางระเบิด Khan El-Khalili Bazaar มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 6 คนและชาวอีิปต์อีก 11คน ทำให้นักท่องเที่ยวหายฮวบไปจากอียิปต์ และมีเหตุก่อการร้ายอีกครั้งในปี 2009 ที่ตลาดนี้อีก ทำให้อียิปต์สูญเสียนักท่องเที่ยวไปอีกระลอก เหตุการณ์ความไม่สงบในอียิปต์มีอยู่เป็นช่วง โดยจะพุ่งเป้าไปที่รัฐบาล Coptic Christian และนักท่องเที่ยวบ้าง จนปัจจุปันยังมีเหตุการณ์ยิงกันที่ North Sinai ซีนายเหนืออยู่เป็นเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2018 มา มีเหตุการยิงและระเบิดถึง 5 ครั้งแล้ว ก่อนจะไปให้เช็ค Travel Advice ของทางการก่อน

689 views

Comments


bottom of page