top of page

Kiruna, Sweden

Updated: Nov 14, 2019

เดินทาง: ปลายตุลาคม 2019 ระยะเวลาเดินทาง 4 วัน

เดือนตุลาคมถึงมีนาคมเป็นช่วงแห่งการตามล่าแสงเหนือในเขตอาคติก Arctic Circle แต่ช่วงเดือนที่ดีที่สุดคือพฤจิกายนและมีนาคม เพราะช่วงกลางวันยังมีแสงราว 6ชั่วโมง มิได้มืดมิดหดหู่ทั้งวัน และอากาศยังไม่หนาวเกินกว่าจะออกไปถ่ายรูปกลางที่โล่งแจ้งในเวลากลางคืน (แต่ก็เตรียมใจไว้ที่ -5c ถึง -15c) ช่วงเวลานอกจากนี้ก็จะลดลงไปหนาวมากถึง -40c ในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ และแทบไม่มีเวลากลางวันเลย

สำหรับคนที่สงสัยว่า Arctic Circle อยู่ที่ไหนก็บริเวณขั้วโลกเหนือนั่นล่ะ ส่วนที่เรามาเที่ยวนี้คือ Kiruna เมืองคีรูน่า ที่อยู่ในเขต Lapland ซึ่งLapland นั่นในช่วงยุคกลางเชื่อว่าเป็นดินแดนที่ไร้มนุษย์ no man land มีชาวเผ่าพื้นเมือง Sami แซมมี่มาตั้งรกรากล่าสัตว์เป็นหลัก แล้วปัจจุปันก็กลายเป็นแหล่งปศุสัตว์ที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์ Reindeer พื้นที่ Lapland ปัจจุปันลากยาวเป็นช่วงทางเหนือของประเทศนอร์เวย สวีเดนและฟินแลนด์

วิวจากเครื่องบิน ตรงนี้เป็นคอกคัดแยกสัตว์ในเขต Kiruna Sweden

เมื่อเครื่องบินลดระดับลง ภาพที่เห็นเป็นสีขาวโพล่ไม่มีบ้านคน เห็นแต่ทะเลสาบและป่าสนมากมายที่ถูกหิมะปกคลุม เดือนตุลาคมน้ำในทะเลสายน้อยใหญ่ก็เริ่มแข็งหมดแล้ว มืน่าละมันถึงเรียกว่า lapland ทำให้นึกถึงซีรีย์ดัง Game of Thrones ส่วนที่เป็น beyond the wall ซึ่งโลเกชั่นจริงถ่ายทำที่ Iceland

พื้นที่แทยทั้งหมดกลายเป็นน้ำแข็งมีหิมะปกคลองตั้งแต่เดือนตุลาคม พื้นที่มีสีดำคือป่าสน และที่กว้างสีขาวคือทะเลสาบ

การมาเยือน Kiruna นอกจากการตามล่าแสงเหนือ การเข้าชมโรงแรมน้ำแข็ง ICEHOTEL ก็เป็นประสบการณ์ที่พลาดไม่ได้ ICEHOTEL นี้เป็นโรงแรมที่ทำจากน้ำแข็งที่แรกของโลก ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆนอก Kiruna ชื่อหมู่บ้าน Jukkasjärvi ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาบ

ทางเข้าตึก ICEHOTEL ซึ่งเปิดบริการตลอดปี

ปี 1989 นักประติมากรรมน้ำแข็งชาวญี่ปุ่นสร้างสรรค์งานบนทะเลสาบนี้เป็นครั้งแรก ปีต่อมานักประติมากรรม ชาวฝรั่งเศสก็ทำบ้างและสร้างเป็นบ้านน้ำแข็ง igloo ซึ่งมีคนเดินทางมาชมงานและไม่สามารถหาที่พักในหมู่บ้านได้ พวกเขาจึงขอเข้าพักในบ้านน้ำแข็งที่จัดแสดงอยู่ โดยเอาหนังกวางเรนเดียร์มาปูและนอนในถุงนอน ซึ่งได้กลายมาเป็นผู้เข้าพักกลุ่มแรกของ ICEHOTEL

เครื่องพ่นเกร็ดน้ำแข็งทำงานเพื่อสร้างเกร็ดน้ำแข็งบนทะเลสาบ

ต่อจากนั้นทุกปี ศิลปินจะถูกเชิญให้มาออกแบบทำห้องต่างๆให้เป็นเช่นนี้มาเป็นปีที่ 30แล้ว ซึ่งโรงแรมก็ใหญ่ขึ้นทุกๆปี และปัจจุปันก็มีส่วนที่เป็นตึกสูงหนึ่งชั้นถาวรอยู่ แบ่งเป็นตึกแบบ Warm Room โรงแรมทั่วไป และตึกที่เป็น Ice Room ห้องน้ำแข็ง เปิดให้บริการทั้งปี ส่วนตึกโรงแรมที่ทำด้วยน้ำแข็งล้วนจะถูกสร้างใหม่ทุกปีช่วงเดือนพฤจิกายน พร้อมให้เข้าพักเดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม

เดือนพฤจิกายนคนที่สนใจดูการก่อสร้างโรงแรมที่ใช้น้ำแข็งล้วนๆซึ่งต้องใช้น้ำแข็งจำนวนมหาศาลถึง 100,000 ตันและหิมะอีก 30,000 ตัน ซึ่งเขาจะเก็บจากแม่น้ำ Torne River ตั้งแต่เดือนมีนาคมก่อนหิมะละลายทุกปีไว้ในโกดัง สามารถมาเยี่ยมชมได้ช่วงเดือนพฤจิกายนแต่ยังเข้าพักในอาคารที่ทำจากน้ำแข็งล้วนไม่ได้ ส่วนคนที่อยากดูตอนที่โรงแรมละลายก็สามรถเข้าเยี่ยมชมพร้อมไกด์ได้ในช่วงเมษายน (เนื่องจากค่อนข้างอันตรายเลยต้องมีไกด์)

ในตึกที่เป็น Ice Room ห้องน้ำแข็งที่เปิดให้บริการทั้งปีนั้น เข้าเยี่ยมชมได้ 10.00-18.00 ทุกวัน (มีค่าเข้าขม) ปากทางเข้าเป็น Ice Bar ที่เสริฟเครื่องดื่มในแก้วที่ทำด้วยน้ำแข็งอันเดียวกับที่สร้างโรงแรม แต่ละห้องจะไม่เหมือนกันเป็นงานปติมกรรมน้ำแข็ง (ห้องในตัวโรงแรมที่สร้างช่วงฤดูหนาวจะเหมือนกันหมดไม่มีปนะติมากรรม)

ก่อนเข้าพักในช่วงเย็นผู้เข้าพักจะไปรับถุงนอนที่ออกแบบเบาและอุ่นพิเศษมาให้เฉพาะกับ ICEHOTEL มีทั้งแบบเดี่ยวและคู่ และเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดนอนที่เป็น base layer หรือลองจอหน์ ซึ่งต้องเตรียมกันมาเองเพื่อเพิ่ม body heat ส่วนสัมภาระเข้าจะให้เก็บไว้ในห้องล็อกเกอร์ขนาดเท่าห้องแต่งตัวตามห้างที่ไล่ตามเบอร์ห้องที่เราจะเข้าพัก เพราะในห้อง Ice Room ที่เราจะพักนั้นอณุหภูมิติดลบที่ -5c ตลอดเวลา จึงให้เราไปแต่ตัวกับรองเท้านั่นล่ะ แต่ไม่ต้องกลัวนะในฝั่งอาคาร Ice Room มีโซนห้องน้ำที่เป็นห้องอุ่นอยู่ ถ้าไม่ไหวก็ไปนั่งในห้องน้ำแทน

ช่วงเช้าพนักงานบอกว่าจะมีคนไปปลุกตอน 8โมงเช้าพร้อมเสริฟน้ำ lingerberry ร้อนๆข้างเตียง ซึ่งทีแรกก็งงว่าทำไมต้องมาปลุกด้วย หนาวแบบนี้นอนไม่หลับแน่ ปรากฎว่าหลับลึกกันรวดเดียวตั้งแต่ 2ทุ่มยันตอนที่เขาเรียกเลย เป็นการหลับที่ลึกที่สุดเท่าที่เคยหลับมา ทำให้นึกถึงหนังวิทยายุทธที่จอมยุทธชอบเข้าไปรักษาตัวกันในถ้ำน้ำแข็ง คงเป็นอย่างนี้สินะ แต่อย่างไรก็ตามเข้าไม่แนะนำให้พักมากกว่า 1-2คืน ก็คงเพราะค่าห้องแพงหูฉี่ด้วยมั่ง อยู่ 1 คืนเท่ากับอยู่ห้อง Warm Room ได้ 3 คืน

แล้วก็ได้เวลาไปตามล่าแสงเหนือกัน ช่วงเดือนนี้ไม่ต้องออกดึกมากสัก 1ทุ่มก็มองเห็นแล้ว จะเห็นชัดมากก็ 3ทุ่มถึงตี 3 อันที่จริงแสงเหนือ Aurora ซึ่งเป็นปรากฏการ์ณของการระเบิดของฝุ่นในชั้นบรรยกาศโลกที่ถูกแรงแม่เหล็กโลกดูดเข้ามาในขั้วโลก จะมีให้เห็นตลอดเวลาในบริเวณใกล้ขั้วโลกทั้งวัน เพียงแต่ถ้ามีแสงอาทิตย์อยู่ เราจะไม่เห็น และถ้ามีเมฆมากหรือแสงเมืองกวนก็เห็นยาก ควรเลือกบริเวณที่โล่งแจ้งในการชม

ก่อนไปเฝ้านั้นควรศึกษาระดับของแสง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านแอปหรือเวปซึ่งค่อนข้างแม่น โดยอ่านค่าของแสง เป็นระดับ KP Index 1-9 และค่าของเมฆ แต่เท่าที่ได้ออกไปเฝ้า 2 คืน คืนแรกไปกับกลุ่มถ่ายภาพซึ่งนำโดยชาว sami แม้ว่าจะหิมะตกทั้งวัน ดูพยากรณ์ก็ไม่ดีขึ้นก็แล้ว แต่เขาก็ไม่ยกเลิกออกไปกันทั้งทียังมีหิมะโปรย พอจอดรถแล้วลุยหิมะกันผ่านป่าเล็กๆไปถึงจุดหมายฟ้าเปิด ไม่ได้ใช้ไสยศาสตร์แต่อย่างใด เขาบอกว่าที่นี้หิมะจะตกเป็นช่วงๆถ้าไม่ใช่พายุหิมะ และเมื่อหยุดฟ้าจะใสทันที ซึ่งจะเป็นแกปช่วงที่ถ่ายได้ ที่ควรดูจึงเป็นค่า KP ถ้าตัวเลขต่ำหมายถึงใกล้เส้นขอบฟ้า horizon มากที่สุด และสูงสุดหมายถึงเห็นได้ทั้งฟ้า เป็นคำอธิบายที่เห็นภาพมาก ส่วนความแรงของแสงไม่เกี่ยวกับค่านี้ และมุมที่เราจะเห็นได้คือทางเหนือเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมวิธีล่าแสงเหนือได้ที่ท้ายบทความ)

การเฝ้าแสงคืนนั้นได้รู้จักเพื่อนใหม่นานาชาติที่ชื่นชอบการเดินทางเพื่อออกไปดูโลกเหมือนกัน ผ่านการถ่ายภาพและนั่งรอบกองไฟ ที่ไกด์เราเตรียมไว้ให้แบบชาว sami ซึ่งเธอก่อกองไฟ ปูหนังกวาง และเตรียมเครื่องดื่มร้อนๆให้ทานกับคุ้กกี่รอบกองไฟท่ามกลางหิมะ อันที่จริงจุดมี่เราถ่ายรูปเป็นหนองน้ำที่แข็งเป็นน้ำแข็งและมีหิมะหนาๆปกคลุม


การเที่ยวในเมืองหนาวๆแบบนี้สิ่งที่ชื่นชอบที่สุดน่าจะเป็นการตื่นสายและทานอาหารเช้านานๆ แถบสแกนดิเนเวีย โรงแรมทุกแห่งจะเสริฟอาหารเช้าหลากหลายทั้งร้อนเย็น เรียกว่าชนะเลิศสำหรับเมืองในแถบยุโรปทั้งหมด เพราะเขาใส่ใจเรื่องอาหารเช้ากันมาก ฉะนั้นอย่าตื่นสายกันนะค่ะ


ช่วงเวลาที่ยังมีแสงอยู่สถานที่น่าเที่ยวในเมืองก็น่าจะเป็น Sami Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่นอกจากวิถีชีวิตแล้ว ยังสามารถให้อาหารและเดินเล่นกับกวางเรนเดียร์ได้ด้วย ในส่วนที่เป็นเรือนเล็กๆจะมีข้าวของของชาว sami ให้ชมวิถีชีวิตโบราณ จะเห็นว่าเสื้อผ้าของเขาสีชูดชาดและใช้หนังกวางเรนเดียร์เยอะเหมือนกัน

กวางเรนเดียร์เป็นสัตว์ที่เชื่องมากๆ แม้จะดูตัวใหญ่และมีเขากว้างมาก เสียดายตอนที่ไปกล้องแบตหมดเร็วเพราะหนาวติดลบ เลยต้องใช้มือถือถ่ายได้รูปกวางไม่ดีเลย ถ่ายสัตว์นี่ค่อนข้างยาก เคลื่อนไหวตลอดเวลาและเข้าใกล้มากก็ไม่ได้ เห็นว่าในสวีเดินมีกวางอยู่ 250,000 ตัว ซึ่งจะเลี้ยงกันในธรรมชาติ กวางทุกตัวจะถูกตีตราก่อนเข้าช่วงฤดูหนาว และจะกระจายกันอยู่ใน Lapland ทั้งนม หนัง เนื้อ เขา กระดูกของกวางมีค่าหมด ชาว sami จึงถือว่าเป็นคนรวยเลยทีเดียวเพราะแต่ละฝูงจะมีกวางอยู่อย่างน้อย 1,000ตัวขึ้นไป


นานๆจะพูดถึงเรื่องอาหารที อยากจะบอกว่าอย่าพลาดอาหารที่พิพิธภรณ์นี้ ซึ่งเขาทำสดในเตาถ่านแบบโบราณ จะเป็นปลาและเบอร์เกอร์เนื้อกวางเรนเดียร์ เสริฟพร้อมมันฝรั่งลูกเล็กๆที่ย่างในเนยล้วนๆ แนะนำให้สั่งไว้ก่อน แล้วกลับมาทานหลังเยี่ยมชมแล้ว เขาจะใช้เวลาย่างอย่างน้อย 30นาที เห็นคนแวะมาทานโดยเฉพาะหลายคน โดยสั่งเบอร์เกอร์เนื้อกวางเรนเดียร์นี่ล่ะ


Abisko National Park

ถนนในเขต Abisko National Park มีสายเดียวตัดทะลุไปถึงเขตชายแดนนอร์เวย์

พลาดไม่ได้ที่จะต้องไป Abisko National Park ตั้งอยู่ห่างจาก Kiruna 100 กิโลเมตร ซึ่ง Abisko นั้นอยู่ใน Aurora Oval หมายถึงพื้นที่ที่มองเห็นแสงเหนือได้ง่าย เพราะด้วยภูมิประเทศที่เป็นเขาและทะเลสาบ โอกาศที่ฟ้าเปิดค่อนข้างสูง จึงมีโอกาสมองเห็นแสงเหนือได้ง่ายจากที่นี่

แนะนำให้พักที่นี้ 1 คืนเพื่อดูแสงให้จุใจ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในหุบเขาแค่ในหมู่บ้านก็เห็นได้แล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่พัก Abisko มีภูมิทัศน์ที่งามตระการตาเช่นกัน แนะนำให้เช่ารถขับตลอดทริปจะได้สะดวกและวิวสองข้างทางก็งาม ขับรถไม่ยากเลยมีทางเส้นเดียว สถานที่เดินเทรคอยู่ใกล้จุด tourist center ซึ่งมีทางเดินให้เลือกเทรค 40นาที หรือเดินขึ้นเขาเทรค 2-3ชั่วโมง แนะนำเส้นที่เดินอ้อมไปถึงทะเลสาบได้เป็นเส้นที่มีห้วยน้ำลำธารธรรมชาติสวยงามมาก (ตามรูปด้านบน)

หินในห้วยนี้เป็นสีเหมือนเกล็ดมังกร

หากจะนั่งรถไฟ Arctic Train ก็สามารถนั่งได้จาก Kiruna ไปจบที่นอร์เวย์ Narvik เป็นเส้นทางที่สวยคนละอารมณ์เนื่องจากรางรถไฟและถนนเป็นคนละเส้น โดยรางรถไฟตัดผ่านเขาและอุโมงค์จะได้วิวที่สูงกว่า ตลอดระยะทางมี 13สถานีใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงผ่าน Abisko National Park, Björkliden ski resort และเทิอกเขา Riksgränsen ซึ่งเป็นแหล่งขับ snow mobil และนั่ง dog sledพร้อมวิวสวยๆของทะเลสาบ ซึ่งเราไปเร็วเกินจึงยังไม่เปิดให้บริการ แต่จะเห็นบ้านของชาวสวีเดนที่เอาไว้จอด snow mobil ส่วนตัวอยู่เป็นหมู่บ้านเลยทีเดียว เรียกว่าเป็นกิจกรรมยอดนิยม สำหรับคนที่สนใจเรื่องรถไฟไปต่อได้ที่ลิงค์นี้ https://www.sj.se/en/we-offer/arctic-circle.html (ทางเราไม่มีส่วนร่วมกับบริษัืนี้เป็นเพียงการแนะนำจากที่ได้อ่าน)

มีหลายสถานที่ที่จะเก็บภาพแสงเหนือใน Abisko ได้ ถ้าจะดีคือไปกับกลุ่มถ่ายภาพเขาจะพาไปหลายที่หน่อย ก็จะได้มุมหลากหลาย คราวนี้เนื่องจากหิมะตกหนักตลอดเย็นจึงเก็บเพียงทีเดียวคือบริเวณท่าน้ำริมทะเลสาบในหมู่บ้านเลย หาง่ายมากและมีโกดังเก็บของเป็นฉากหน้าให้


 

การเตรียมตัว

สำคัญสุดสำหรับทริปที่จะไปในพื้นที่ที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งคือ เสื้อผ้าที่เหมาะสม การสวมเสื้อหลายๆชั้นไม่ได้ช่วยให้หายหนาว ปัจจุปันเทคโนโลยีด้านการนุ่งห่มพัฒนาไปไกลมาก การเลือกเสื้อผ้าที่ถูกต้องสำคัญกว่า ส่วนตัวไม่แนะนำ uniqlo สำหรับอุณหภูแบบนี้เพราะเทคโนโลยี heat tech เอาไม่อยู่สำหรับอากาศแบบ outdoor ที่ลมแรงและหนาวติดลบ แนะนำพวก Columbia หรือ Northface ที่ผลิตชุดสำหรับ outdoor เพราะเราไปเที่ยวเดินในธรรมชาติข้างนอก ไม่ได้ไปเดินเล่นในเมือง

อย่าปล่อยให้สภาพอากาศมาเป็ยอุปสรรค์ในการท่องเที่ยว หนาวติดลบเท่าไหร่ก็สบาย ชุดพร้อม อุปกรณ์พร้อม

เสื้อนอกที่กันหนาวไปมากๆ จะใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วย ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์ Columbia จะเรียก Omni Heat ส่วน Northface เรียก Polartec เป็นผ้าที่สามารถเก็บอุณหภูมิความร้อนของร่างกาย โดยไม่ทำให้เกิด Heat trap หรือความร้อนสะสมที่มากเกินไป พูดง่ายๆ คือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายเราให้อุ่นใน เวลาที่ต้องออกไปอยู่ในที่อากาศหนาวๆ ขณะเดียวกัน ถ้าเราอุ่นจนเหงื่อออกความชื้นก็จะระเหยออกไป ทำให้เราไม่อึดอัดถึงกับต้องถอดเสื้อออกเมื่อเข้าไปในห้องที่มีฮีตเตอร์อุ่นมากๆ เหมือนให้ผิวได้หายใจ

เสื้อผ้าที่ใส่ในพื้นที่ SUBZERO โดยทั่วไปจะใส่กัน 3 ชั้น

ชั้นที่ 1 "Base Layer" or "Long Underwear" or "Long johns" or "Thermal Underwear" ทั้งหมดนี้คือ ศัพท์ที่ใช้เรียกชุดชั้นในสำหรับหน้าหนาว สำคัญเพราะมันช่วยควบคุมอุณหภูมิที่ผิวของเราไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็วจนเกินไปจนทำให้ไม่สบาย ฉะนั้นวัสดุผ้าฝ้ายจึงเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะทำให้เย็นเร็ว ขนาดกระชับแนบพอดีตัว ห้ามหลวมเด็ดขาดมันจะไม่ทำให้เกิดความร้อนเพราะอากาศเข้าแทรกได้


ชั้นที่ 2 เสื้อชั้นที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกักเก็บความอบอุ่นให้กับร่างกาย (ทำให้ร่างกายสูญเสียความอบอุ่นไปได้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้) ส่วนใญ่ใส่เป็นผ้าฟลีซ Fleece ยิ่งมีกรัมสูง ยิ่งอุ่น เช่น 100g, 200g, 300g เป็นต้น เวลาเข้าไปในตัวอาคารที่อุ่นๆมักจะถอดจนเหลือตัวนี้ ส่วนกางเกงเลือกเป็นกางเกงที่มีฟลีซแบบหนา หรือจะใส่เป็นกางเกงสกีเลยก็ได้


ชั้นที่ 3 เสื้อนอกเป็นเสื้อผ้าที่อยู่ชั้นนอก เป็นเกราะปกป้องเสื้อผ้าชั้นในอื่นๆ และ ร่ายกายของเราจากน้ำ ลมและหิมะ โดยเสื้อนอกเหล่านี้จะเป็นเสื้อขนเป็ด ถ้ามี Down เยอะ จะดีกว่า Feather เยอะ และตัดสินที่

ความหนาแน่น 1000 จะดีกว่า 800 จะดีกว่า 600 จะดีกว่า 400 ปกติที่ติดลบควรจะมีสัก 400ขึ้น ยิ่งเยอะยิ่งเบาและอุ่นมาก ถ้าเยอะมากๆข้างในก็ใส่น้อยลง อย่างประสบการณ์ของตัวเองที่ -10 ลมไม่แรง ใส่ base layer กับ down jacket 600 ที่เป็น wind proof ก็เอาอยู่แล้ว นอกจาก down แล้ววัสดุของเสื้อด้านนอกเป็น "Water Repellent" แปลว่า สำหรับกันลม และ ละอองน้ำ ละออกฝน หรือ ละอองหิมะ หรือ "Water Proof" หมายถึงกันน้ำ ซึ่งก็กันลมได้ด้วย แต่จะแข็งกว่าการระบายอากาศจากข้างในออกข้างนอกทำได้ช้ากว่าเสื้อผ้าปกติมาก ถ้าไม่ได้จะไปปีนเขาหรืออยู่กลางแจ้งในเขตขั้วโลกโดยเฉพาะ Iceland ที่ลมแรงมาก ก็ไม่ถึงกับต้องพิจารณาพวกเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Wind Proof กันลมก็ได้ ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีแตกต่างกันไป

ชนพื้นเมื่องโบราณใส่ชุดแบบนี้พร้อมหนังกวางเรนเดียร์

ความคิดเห็นส่วนตัวจากที่ใช้มา Columbia และ Northface นั้นด้านเทคโนโลยีไม่ต่างเท่าไหร่ เวลาค้นให้ไปดูในเวปของแต่ละเจ้าโดยตรงเลย สินค้าแต่ละชิ้นจะมีแถบรีวิวอยู่ข้างล่างให้อ่านให้ละเอียด ส่วนตัวชอบอ่านรีวิวที่แย่สุดก่อนจะได้รู้ว่ามันมีข้อด้อยตรงไหน เขารีวิวตั้งแต่ความอุ่น ความตรงของไซส์ และสวยงาม(วัสดุดูเป็นพลาสติกไปหรือดูแพงเป็นต้น) ด้านราคาก็ต่าง โดยเจ้าแรกถูกกว่า เจ้าที่สองจะเนียบกว่า แฟชั่นกว่า แน่นอนยังมีอีกหลายแบรนด์ซึ่งไม่ได้มาเปรียบเทียบแต่โดยทั่วไป 2เจ้านี้จะมีให้ซื้อในไทยได้เผื่อว่าอยากทดลองใส่ โดยเฉพาะรองเท้า ใส่ไม่พอดีจะเดินลำบาก ยิ่งถ้าต้องเทรคแล้วใส่หลวมไปจะอันตรายเพราะข้อเท้าแพลงหรือลื้นได้ง่าย

อุปกรณ์อื่นๆ

หมวก ที่เป็นผ้าขนสัตว์ wool แบบหนามีซับในและปิดหูเพื่อกันลม

แว่นกันแดด จำเป็นมากสีขาวของหิมะมองนานๆจะทำให้ตาบอดได้

ผ้าพันคอ ที่เป็นผ้า wool หรือขนสัตว์เน้นแบบหนาเพื่อความอุ่นและกันลม เวลาหน้าหนาวมากเอามาปิดหน้ากันหนาวได้

หน้ากากปิดหน้า ส่วนมากเลือกเป็นผ้าฟลีซ fleece ขนเรียบจะได้ไม่ลำคาญจะเป็นแบบไอ้โม่งที่เหลือแต่ส่วนตา ไม่ค่อยได้ใช้ถ้าไม่ได้จะเล่นสกีหรือแคมป์ตากลมรอแสงเหนือทั้งคืนกลางที่โล่ง

ถุงมือ ควรเลือกเป็นแบบที่มีบุขนสัตว์หรือนวมด้านในและกันน้ำ เพราะเมื่อหิมะและเราหยิบจับอะไรที่โดนหิมะจะละลายเป็นน้ำ ปัจจุปันมีขายแบบที่ใช้กับติดลบโดยเฉพาะและสำหรับคนที่ใช้มือถือถ่ายรูปให้เลือกแบบที่สามารถใช้แตะหน้าจอมือถือได้จะได้สะดวก

ถุงเท้า ควรเลือกแบบที่มีขนสัตว์แบบหนา หรือ heat tech

รองเท้าแบบเดินหิมะ รองเท้าสำคัญมาก เพราะความเย็นจะทะลุพื้นขึ้นมา และต้องเลือกแบบที่พื้นเป็นยางหรือซีลีโคนกันน้ำ หุ้มข้อสูงหน่อย เนื่องจากหลังหิมะตกเวลาเดินจะจมหิมะเข้ารองเท้าได้ง่าย ถ้าเป็นแบบเดินหิมะเฉพาะจะไม่ค่อยลื่นและจะกระจายน้ำหนักเท้าได้ดีกว่า แต่ถ้าจะเดินบนน้ำแข็งต้องซื้อพื้นเหล็กหนามเพิ่มมาคราบใต้รองเท้าอีกทีกันลื่น รองเท้าชนิดนี้มีให้เลือกแบบติดลบไม่เท่ากัน แต่ถ้าจะเป็นการเดินเทรคควรซื้อแบบเทรคซึ่งแข็งกว่าและหน้าเท้ากว้างกว่าเพื่อป้องกันเท้าจะการกระทบกับหินและมีที่เผื่อในกรณีเท้าพองจากการเดินเป็นเวลานานจะได้ไม่เจ็บเท้า

ตัวช่วยแนะนำ

ถุงร้อน/แผ่นกันหนาว ขายดีมากในญี่ปุ่น มี 2 ชนิด คือ แบบชนิดเทปกาวใช้ติดที่บริเวณเสื้อผ้าเพื่อกระจายความอุ่น ข้อควรห้ามคือ อย่าติดกับผิวหนังอาจไหม้ได้ และแบบชนิดเป็นถุงใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อเพียงแค่ฉีกซอง เขย่าๆ สารที่อยู่ในซองเมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนก็จะเกิดความร้อน เป็นตัวช่วยที่ดีมาก แต่ออกจะไม่รักโลกหน่อยเพราะอันหนึ่งใช้ได้แค่ครั้งละ 8-14ชม แล้วแต่แบรนด์


กระติกน้ำสูญญากาศ ช่วยชีวิตมาก เวลาอากาศหนาวติดลบ น้ำเปล่าที่ซื้อติดรถจะกลายเป็นน้ำแข็งเช่นกัน เอาน้ำอุ่นจัดใส่กระติกเก็บความร้อนแบบพกพาไว้จิบแทนน้ำเปล่าจะช่วยให้อุ่นและดับกระหายได้ดี ควรเลือกแบบดีๆเช่น zojirushi หรือ Tiger ก็ดีทั้งคู่เก็บได้ 6-8 ชม ในอุณหภูมิเดิม ส่วนของ starbuck ที่ออกแบบเก๋น่ารัก ใช้ไม่ได้นะค่ะ


ไม้ selfie หนาวติดลบมากๆจะถอดๆใส่ๆถุงมือก็ลำบากยุ่งยาก ใช้ไม้ selfie รุ่นเสียบสายติดมือถือไปเลยแล้วกดถ่ายบนปุ่มแทนสบายไม่ต้องถอดถุงมือ และถ้าต้องฝากคนอื่นถ่าย เขาก็เต็มใจไม่ต้องถอดถุงมือมาช่วยถ่ายด้วย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับแสงเหนือ

ชาวกรีกโบราณเชื่อว่าแสงเหนือคือเทพออโรร่า Aurora ซึ่งเป็นเทพีแห่งรุ่งอรุณเป็นน้องสาวของเทพสุริยัน Helios และจันทรา Seline ซึ่งนั่งรถม้าไล่ตามพี่ๆในช่วงก่อนรุ่งสร่างจึงทำให้เกิดปรากฎการ์ณแสงเหนือ เขามองว่าเป็นเรื่องที่ดี ชาวยุโรปในยุคกลางกลับเห็นว่าถ้าเห็นแสงเหนือปรากฎเป็นลางร้ายจะมีโรคระบาด หรือสงคราม ในจีนเชื่อว่าแสงเหนือเกิดจากการต่อสู้ระหว่างมังกรที่ปกป้องธรรมะจากอธรรม ในญี่ปุ่นเชื่อว่าเด็กที่เกิดใต้แสงเหนือจะมีหน้าตาชวนหลงไหล ชาวอาโบริจินที่ออสเตรเลียเต้นเพื่อบูชาและขอบคุณเทพเจ้าถ้าเกิดแสงเหนือ และชาวเผ่าในอลาสก้าเชื่อว่าแสงเหนือคือแสงของวิญญาณคนที่ตายแต่ไร้ภพจึงเร่ร่อนอยู่บนโลก เป็นความเชื่อที่แตกต่างกันมากๆเลยทีเดียว

ล่าแสงเหนือยังไง

แสงเหนือ (Aurora หรือ Northern Light ในภาษาอังกฤษ) ไม่ได้เห็นกันง่ายๆ เขาจึงใช้คำว่า "ล่า" ในปีที่ activity ไม่แรงไปเฝ้า 5-6วันอาจได้เห็น 1 วัน ถ้าปีที่แรงๆก็ 3วันมีโอกาสเห็น 1วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอากาศว่ามีเมฆ หมอกเยอะเท่าไหร่ ถ้าจะไปในช่วงปีนั้นๆต้องเผื่อเวลาไว้ตามที่บอก ความแรงของแสงจะแรงสุดทุก 11ปี ในปีที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (ครั้งต่อไป ปี 2025-26) แหล่งที่เห็นได้คือบริเวณ Aurora Oval ประเทศไอซ์แลนด์ นอร์เวย สวีเดิน ฟินแลนด์ รัสเซีย แคนาดาตอนเหนือ อลาสก้า และกรีนแลนด์ ก่อนไปเฝ้านั้นควรศึกษาระดับของแสง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านแอปหรือเวปซึ่งค่อนข้างแม่น สำหรับ app แนะนำ Aurora Fcst โดยอ่านค่าของแสง เป็นระดับ KP Index 1-9 และค่าของเมฆ ค่า KP ถ้าตัวเลขต่ำหมายถึงใกล้เส้นขอบฟ้า horizon มากที่สุด และสูงสุดหมายถึงเห็นได้ทั้งฟ้า ส่วนความแรงของแสงไม่เกี่ยวกับค่านี้ ขึ้นอยู่กับความกรจ่างของฟ้าในคืนนั้น เราจะรู้ได้ว่าฟ้าใสแค่ไหนจากการมองดูดาว ถ้าเห็นดาวชัด เราจะมีโอกาสเห็นแสงเหนือ ถ้ามองเห็นดาวชัดแล้วให้หันหน้าทางเหนือ ถ้ามีแสงเหนือจะพาดจากทางตะวันออกไปตะวันตก สังเกตุสิ่งที่เหมือนเมฆฝนบนท้องฟ้าในพิกัดนี้ เพราะแสงมันไม่ได้ชัดทุกครั้งเหมือนที่เราถ่ายยิ่งโดยเฉพาะในปีที่กิจกรรมต่ำเช่นช่วง2-3ปีนี้ และสายตาคนไม่สามารถมองเห็นได้ชัดในที่มืด จึงต้องอาศัยการมองผ่านกล้องถ่ายรูป

แสงแรง แม้ว่าคืนนั้นค่า KV = 2 แสงตกเป็นม่านและมีสีแดงและม่วงที่หางเล็กน้อย

อุปกรณ์ดูแสงเหนือคือกล้องถ่ายรูปที่เปลี่ยนเลนส์ได้และต้องมีขาตั้งกล้องไปด้วย สำหรับการตั้งกล้อง หมุนเลนส์ focus ไปที่ infitnity ดูบนกล้องเป็นรูปนี้ ∞ ปรับเป็นโหมด M โดยปรับค่า F ในน้อยที่สุดเท่าที่กล้องมี เช่น 2.8 ปรับ ISO อย่างต่ำ 1600 ขึ้นไป (ถ้าน้อยกว่านี้จะถ่ายไม่ติด) และเปิด Shutter Speed สัก 15-20 วิ เพื่อดูก่อนว่าเห็นไหม แล้วค่อยเพิ่มจากตรงนั้น ถ้าเปิดนานไปภาพดาวจะเป็นขีดไม่เป็นจุด สำคัญปิดระบบกันสั่นของกล้องถ้ากล้องมีระบบกันสั่น แล้วใช้สายลั่นกล้องกดชัตเตอร์หรือถ้าไม่มีกดเป็น timer บนกล้องเลือกที่ 2วินาทีก็ได้


สำหรับคนที่ไม่มีกล้อง ลองโหลดแอปตัวนี้ Northern Lights Photo Taker (มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย) ไว้ใช้ถ่าย ไม่ชัดเท่ากล้องแต่ดีกว่าไม่ได้ใช้เลย แต่ก็ยังแนะนำให้ใช้คู่กับขาตั้งอยู่ดีนะค่ะ เพื่อให้ภาพไม่สั่น

แสงเหนือบางๆในคืนที่ KV = 2

1,539 views

Comments


bottom of page