top of page

Spiti Valley, India

Updated: Dec 1, 2019

เดินทาง: ปลายสิงหาคม 2019 ระยะเวลา 13วัน

Kee Monastery, Spiti Valley, Himachal Pradesh, India

พื้นที่แถบสปิติเพิ่งเปิดให้คนภายนอกเข้าในปี 1991 เป็นดินแดนในเทือกเขาหิมาลัยส่วน upper Himalayas ที่มีความสูงเฉลี่ย 3,800 เมตรขึ้นไป เป็นดินแดนที่มีมนต์ขลัง สวยงามเหมือนไม่ได้อยู่บนโลกนี้ จำได้ว่าครั้งแรกที่เห็นภาพ Kee Monastry วัดทิเบตในหุบเขาสปิติเหมือนต้องมนต์ นั่งมองอยู่นาน ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่แห่งใดในโลกแต่ตัดสินใจว่าวันหนึ่งจะต้องไปให้ได้

จากการค้นหาพบว่าช่วงที่สามารถเดินทางเข้าไปได้มีเพียงช่วง พฤษภาคม - ตุลาคม เท่านั้น ช่วงฤดูหนาวพื้นที่บน Upper Himalaya หรือหิมาลัยส่วนบนจะหนาวมากถึง ลบ 25-30 องศา ถนนเป็นน้ำแข็งและตัดขาดจากโลกภายนอก นอกจากคนชราและนักบวช คนส่วนใหญ่อพยพลงมาในที่ที่อบอุ่นกว่า ส่วนช่วงหน้าร้อนจะเสี่ยงเรื่อง land slide หินถล่มเนื่องจากการละลายของน้ำแข็งบนที่สูงหรือฝนตก ถนนขาด หินตก ทางกลายเป็นลำธารเอาดื้อๆ ฉะนั้นช่วงเวลาที่จะไปได้จึงจำกัดมาก

ด้วยภูมิประเทศแห้งแล้งและหยาบกร้าน ทำให้สปิติมีประชากรเพียง 1คนต่อตารางกิโลเมตรเท่านั้น

ก่อนไป 2-3 อาทิตย์ มีข่าวมาว่าเกิดหินถล่มหลายที่ปิดทางเพราะปีนี้ฝนตกเยอะในหุบเขา ไม่รู้จะได้ไปไหม จะเคลียร์ทันหรือเปล่า ก่อนไป2-3วันยังให้เตรียมอุปกรณ์กันฝนเพิ่มเติม แต่โชคดีที่ในทริปไม่เจอทางปิดหรือฝนเลย

สายน้ำที่เชี่ยวกรากกับภูมิประเทศแปลกตาทำให้รู้สึกเหมือนอยู่นอกโลก

การเดินทางรอบนี้ต้องนั่งรถเยอะมากเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและสูง สนามบินที่ใกล้และสะดวกที่สุดคือ Chandigarh เมืองจันดิการธ์ที่อยู่ในรัฐปัญจาบที่อยู่ติดกับรัฐหิมาจัลประเทศ Himachal Pradesh ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายในการเดินทางนี้ โดยเริ่มจากเมือง Shimla > Sorahan > Nako > Tabo > Kaza > Chandra Taal > Manali สำหรับคนที่มีเวลาและรักภูมิประเทศแบบนี้จะเหมารวมไปต่อที่เลห์จากมะนาลีเลยก็ได้ บวกเวลาเที่ยวเพิ่มอีก 5 วัน ถ้าจะเหมาแคชเมียร์ ซันสกา ให้ครบด้วยก็เพิ่มไปอีก 6 วัน ถ้าเอาเที่ยวแบบชิวจริงและครบรสควรให้เวลาแถบนี้ไปเลย 1เดือน

เส้นทางเดินรถตามเส้นสีแดงบนแผนที่นี้

รัฐหิมาจัลประเทศ Himachal Pradesh ตั้งอยู่ตอนเหนือของอินเดีย มีพื้นที่อยู่ในเขตเทือกเขาหิมาลัยทั้งหมด ติดกับรัฐแคชเมียร์ และเขตปกครองตนเองทิเบต ของประเทศจีน ซึ่งอยู่ในเขตเทือกเขาหิมาลัยด้วยกันหมด เป็นพื้นที่ตั้งบนเทือกเขามีความสูงเฉลี่ยที่ 3,800เมตร (เรียกได้ว่าอยู่สูงกว่ายอดดอยอินทนนท์ ซึ่งสูงที่สุดในไทย ที่ 2,565เมตรอีกมากโข) โดยแบ่งออกเป็น Upper Himalaya หรือหิมาลัยส่วนบน และ Middle Himalaya หรือหิมาลัยส่วนกลาง ส่วนที่เราไปเที่ยวหลักๆในทริปนี้คือส่วนหิมาลัยส่วนบน แม้คนอื่นจะรู้สึกว่าการนั่งรถวันละ 5 ชั่วโมงจะน่าเบื่อ แต่เมื่อเข้าเขตสปิติแล้ว คุณจะแทบไ่ม่อยากละสายตาจากถนนเลย ทิวท้ศน์มันสวยหลุดโลกทีเดียว โดยเฉพาะในส่วน Kaza ไปแล้ว คิดว่าอยู่บนดาวอังคาร อารมณ์นี้เกิดขึ้นอีกที่หนึ่งบนโลกคือ Iceland ประเทศไอซ์แลนด์ในเขตขั้วโลกเหนือ

ทริปนี้เริ่มจากเมือง Shimla ชิมลา ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงช่วงฤดูร้อนของรัฐบาลผู้แทนอังกฤษในสมัยอาณานิคมอังกฤษ ตั้งแต่ ค.ศ. 1864 จนถึงอินเดียประกาศอิสระภาพ ใช้เพื่อหนีความร้อนจากเดลีและกัลกาต้า ปัจจุปันผังเมืองยังคงเหมือนในยุคนั้น และมีตึกสไตล์ตะวันตกแบบ Tudorbethan และ Neo Gothic อยู่หลายที่เป็นมรดกจากยุคนั้น เมืองตั้งอยู่บนเขาที่ความสูง 2,267 เมตร ปัจจุปันเมืองนี้มีคนอาศัยหนาแน่นที่สุดในหิมาจัลประเทศ บ้านถูกสร้างติดๆกันอย่างแน่นหนาบนไหล่เขาด้วยสีสันแสบตาสไตล์อินเดีย

เราเดินเที่ยวในตัวเมืองบนถนน Mall Road (ทุกเมืองใหญ่ในแถบนี้จะมีถนนชื่อนี้ เพื่อแสดงว่าเป็นย่านการค้ากลางเมือง ไม่ได้มีห้างอะไรหรอก จะเป็นร้านค้าแบบห้องแถวมากกว่า) ร้านรวงแม้ถือว่าเยอะแล้วก็ยังเล็กกว่าตลาดเมือง Leh เลห์ เสียอีก กิจกรรมของนักท่องเที่ยวหลักๆคือการเก็บภาพถนนรอบศาลาว่าการ และโบสถ์ Christ Church ซึ่งเป็นโบสถ์ที่มีความเก่าแก่เป็นอับดับ 2 ของอินเดีย สร้างขึ้นในปี1857

มองไปรอบๆย่านธุรกิจนี้จะเห็นเมืองไล่ตามบนไหล่เขาเป็นบ้านหลากหลายสีสันสไตล์อินเดียที่ต่างสร้างบ้านแข่งกันในชิมลาการจอดรถกลางเมืองเป็นเรื่องยากมากเพราะทางเป็นไหล่เขา จึงมีการสร้างลานจอดรถไว้ด้านล่างแล้วมีบริการลิฟท์(ค่าลิฟท์ 10รูปี)เพื่อไม่ต้องเดินขึ้นบันไดประมาณตึก 8ชั้นขึ้นไปบนถนนคนเดินหรือ Mall Road

ที่ชิมลามีสนามบินอยู่เหมือนกัน และมีสายการบินแอร์อินเดียสายการบินเดียวบินวันละไฟลท์ช่วงเช้า แต่โอกาสที่จะลงได้คือ 50% เหตุกจากวิสัยทัศน์ไม่ดี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่หุบเขาบนเขาสูงหมอกลงหนามาก และมีเพียง 1ลานบิน รองรับเครื่องบินได้ 2ลำเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินของกองทัพมาลงจอด

ออกจากชิมลามุ่งหน้าสู่ Sarahan ซาราฮาน ซึ่งเป็นทางเข้าสู่ Kinnaur คินเนอร์ เส้นทางนี้เป็นเส้นทาง Indo-Tibet อินโด-ทิเบตมาแต่โบราณ ที่เมืองซาราฮานนี้มีวัดพระแม่กาลี Bhimadevi Temple ซึ่งเล่ากันว่าหูข้างหนึ่งของเทวีสตรีซึ่งเป็นมเหสีของพระศิวะตกอยู่ที่นี้จากพิธีญันยะ เจ้าที่ครองแคว้นนี้จึงสร้างวัดและให้มีการสักการะพระแม่กาลี(ซึ่งคืออีกภาคหนึ่งของเทวีสตรี)ปัจจุปันเราสามารถขึ้นไปสักการะได้ที่ชั้น 2 ของวัดฮินดูแห่งนี้ ถือเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์มากแห่งหนึ่ง

ฺวัดพระแม่กาลี Bhimadevi Temple ที่ Sarahan, Himachal Pradesh, India

เวลาเข้าไปสักการะจะห้ามนำกล้อง มือถือ เครื่องหนังใดๆ รวมถึงกระเป๋าสตางค์หนังและเข็มขัดหนังเข้าไป (เป็นข้อห้ามของฮินดู เพราะนับถือวัว) บรรยกาศที่วัดนี้ดูง่ายๆไม่เหมือนวัดฮินดูที่เคยเข้าในรัฐอื่นๆของอินเดีย ที่มักมีสิ่งของบูชาเยอะ ทั้งดอกไม้ต่างๆ นมสด ผงสี และของหวาน ที่นี้จัดวางดูเหมือนวัดทิเบต เรียบๆและเป็นระเบียบ เราซื้อเครื่องบูชาที่หน้าวัดและเข้าไปมอบให้ผู้ดูแลหน้าพระแม่ และรับขนมกับผ้ากลับมาเพื่อเป็นศิริมงคล ขนมเป็นน้ำตาลให้ทานเลย แต่เป็นขนมเวียนเทียน (เขาจะเอาของที่วางไว้ก่อนหน้านี้ให้เรา ส่วนของเราคนต่อไปได้) และส่วนผ้า เห็นคนขับรถเอามาผูกไว้รอบพวงมาลัย

ในบริเวณลานวัดจะมีคนมาเล่นดนตรีเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดบรรยกาศ และเมื่อมองไปรอบๆจะเห็นภูเขาที่มีหิมะปกคลุมล้อมรอบ ทำให้นึกว่าช่วงเช้าที่หมอกลงหนาๆที่นี่น่าจะดูขลังมาก

การจะเก็บภาพวัดต้องเดินออกด้านหลังวัดเพื่อไปถ่ายจากมุมของราชวังของเจ้าที่ครองแค้วน บ้านดูเรียบง่ายแต่น่าอยู่และในบริเวณใกล้บ้านก็มีวัดเล็กๆไว้ทำพิธีบูชาส่วนตัว บรรยากาศในเมืองดูสบายๆ แม้ถนนจะคับแคบ

จากซาราฮานย้อนลงมาผ่านแม่น้ำ Sutlej สัตรุด ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักและมีโครงการสร้างเขื่อนเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ตามหุบเขานี้ บรรยากาศระหว่างทางต้องผ่านโซนก่อสร้างเป็นระยะ และเห็นเส้นไดนาไมท์ที่ฝังไว้ตามหน้าผาเพื่อเอาไว้ระเบิดหินเปิดทาง ระหว่างทางจะมีโซนตั้งป้ายไว้ว่า shooting stones หินตก ส่วนใหญ่เป็นหินกรวดขนาดเท่ากำปั้นที่ไหลลงมาจากด้านบน ซึ่งมีให้เห็นตลอดทั้งการเดินทางคราวนี้ ทำให้การนั่งรถไม่น่าเบื่อดี ต้องลุ้นดูว่ารถจะสวนมาได้ไหมกับถนนที่เห็นชัดว่ามีเลนเดียวแต่ขับสวนกัน ด้านข้างเป็นเหว เมื่อเข้าเขตนี้รถก็ไม่เปิดแอร์อีก เว้นแต่ช่วงที่วิ่งผ่านส่วนที่ก่อสร้างถนนกันอยู่ที่เป็นฝุ่นชัดๆ คนขับจะปิดกระจกอนุโลมให้เปิดแอร์ชั่วคราว เขาให้ความสำคัญกับการประหยัดน้ำมันมาก เพราะปั้มตั้งอยู่ไกลกันมากทีเดียว และรถก็ไม่ได้สัญจรผ่านกันเท่าไหร่

เย็นนี้จุดหมายอยู่ที่ Chitkul ชิตกุล หมู่บ้านสุดท้ายของอินเดียก่อนเข้าสู่ทิเบต อยู่บนความสูง 3,450 เมตร (ดอยอินทนนท์สูงเพียง 2,565เมตรหรือ 8,415ฟุต)

ปัจจุปันเขาพยายามทำเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว มีการเพนต์กำแพงหลายๆจุดในหมู่บ้านให้มีอะไรขึ้นมา และมีโรงแรมสร้างใหม่อยู่2-3แห่งเพื่อรองรับ ชาวบ้านแถบนี้ทำนาขั้นบันไดปลูกข้าวสาลีเป็นหลัก

ในช่วงที่เราอยู่เป็นช่วงที่ข้าวสาลีออกดอกเป็นสีชมพูหวานแหววมาก ใกล้กับหมู่บ้าน Chitkul มีที่พักสไตล์แคมป์อยู่ 2-3 แห่ง สร้างอยู่ข้างแม่น้ำและมีไร่ข้าวสาลีอยู่เต็มไปหมด สวยแปลกตามาก ว่ากันว่าพืชที่ปลูกในพื้นที่สูงกว่า 2.000เมตรมีสารอาหารเป็นเลิศ เพราะเป็นพืชที่แข็งแรงทนอากาศที่โหดร้ายบนที่สูงที่หนาวมากในเวลากลางคืนและร้อนมากเพราะแสงแดดในเวลากลางวัน (ความเชื่อหรือเรื่องจริงเนี่ย? แต่ก็แอบกินแป้งนานปิ้งทุกร้านที่มีโอกาศ) ทุ่งเป็นสีชมพูสดใสมาก มองไปเป็นจุดๆในหุบเขาโดยเฉพาะในแถบแม่น้ำ Baspa นี้

แอ๊บเปิ้ลของ Kinnaur คินเนอร์ ซึ่งปลูกในพื้นที่หิมาลัยบนความสูงกว่า 10,000ฟุตเป็นแอ๊ปเปิ้ลพันธ์ุดีของอินเดีย

คืนนั้นพักแรมในเมือง Sangla ซังลา โรงแรมนี้อยู่ในสวนแอ๊ปเปิ้ล ตั้งแต่เข้าเขตเมืองนี้จะเห็นไร่แอ๊ปเปิ้ลและบ้านทุกหลังมีต้นแอ๊ปเปิ้ล ที่แท้แอ๊บเปิ้ลของ Kinnaur คินเนอร์ ซึ่งปลูกในพื้นที่หิมาลัยบนความสูงกว่า 10,000ฟุตเป็นแอ๊ปเปิ้ลพันธ์ุดีของอินเดีย จะปลูกกันตั้งแต่เมือง Sangla ถึง Pooh และถูกส่งไปขายทั่วประเทศมีไม่พอความต้องการจนไม่เคยได้ส่งออกเลย (ลองชิมตลอดทางเผื่อพลาดของดี สำหรับตัวเองรสชาติประมาณ washington apple เดี๋ยวนี้คนไทยเขากิน Envy กันแล้ว หวาน กรอบ เปรี้ยวนิดๆ ได้รสแอ๊ปเปิ้ลเต็มคำ อยากบอกว่าของแทบทุกอย่างของประเทศนี้ไม่เคยมีเพียงพอที่จะส่งออกเลย เพราะมีประชากรกว่า 1พันล้าน ก็ลองคิดดูแล้วกัน)

เมืองซังลา Shangla ถือเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ชายแดนทิเบตที่สุด และเป็นที่ตั้งของ Kamru Fort ป้อมแคมรู ส่วนที่เป็นหอคอยโบราณตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของเมือง เราต้องเดินเท้าขึ้นไปผ่านวัดและหมู่บ้านซึ่งแม้ไม่ชันมากและเป็นทางปูหินก็เดินเหนื่อยใช้ย่อย อย่างว่าเราได้ขึ้นมาบนความสูงเกือบ 3,000เมตรเลยยอดดอยอินทนนท์มาแล้ว อากาศจึงบางลงมาก การเดินทางเส้นนี้ต้องเตรียมตัวเรื่องอาการต้านที่สูง (อ่านต่อในบทความย่าติง หรือการเตรียมตัวด้านล่าง) ซึ่งคนที่จะเป็นจะเริ่มมีอาการเมื่อเกินความสูง 3,000เมตร

ก่อนเข้าวัดต้องสวมหมวก และผูกเชือก ที่เอว และถอดรองเท้าก่อน แสดงถึงความเคารพต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น

ส่วนวัดฮินดู Bering Nag Temple เป็นวัดสำคัญที่สักการะ Lord Jagas หรืออีกภาคหนึ่งของพระศิวะ โดยเฉพาะในช่วงสิงหาคมของทุกปี วัดนี้ก็ทำด้วยไม้ เมื่อเดินทะลุหลังลานวัดไปเดินผ่านทางเท้าของหมู่บ้านไต่ขึ้นไปราว 10นาทีถึงป้อมแคมรู ที่นี้มีเตรียมหมวกแบบคินเนอร์ แถบผ้าบางๆให้เราไว้คาดเอวก่อนเข้าไปด้านในด้วย และที่น่าสนใจคือไม่ได้เก็บค่าเข้าชมอะไร เป็นการดูแลโดยชาวบ้านกันเอง มีจำกัดจำนวนคนเข้าเพื่อนไม่ให้หนาแน่นเกินไป และมีการบรรยาย บนหน้าลานเล็กๆตรงป้อม ในบริเวณนี้ก็มีวัดฮินดูเล็กๆไว้สักการะ Kamakhya Devi เทวีคามากลาหรืออีกภาคของพระแม่กาลี

จากซังลา Shangla ก็นั่งรถกันยาวๆเข้าเขตเมืองหลวงของคินเนอร์ เมือง Reckong Peo เรคคงเปียว ในฐานะคนต่างชาติที่เข้ามาในเขตชายแดนของอินเดีย เราต้องไปรายงานตัวทำเอกสารที่ศาลาว่าการกลางเมือง เพราะเราอยู่ในเขตชายแดน อินเดียจะมีข้อบังคับตรวจตราละเอียดกับคนต่างชาติหน่อย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการข้ามเขตแดนกัน

ต้นสนยักษ์ในเมือง Kalpa, Himachal Pradesh, India

จากนั้นก็ขับรถเลยขึ้นไปพักที่เมือง Kalpa คัลปาซึ่งอยู่เหนือเมืองเรคคงเปียวและเป็นแหล่งปลูกแอ๊บเปิ้ลที่สำคัญอีกด้วย วิวเมืองนี้มีต้นสนขนาดใหญ่มหึมาเป็นจุดเด่น ต้นไม้นี้ทำให้บ้านดูเป็นมดไปเลย และนึกถึงหนังอินเดียที่ชอบมียักษ์ในเรื่อง มักรู้สึกว่ายักษ์ตัวใหญ่ไม่สมจริงเลย พอเห็นต้นไม้นี้ทำให้รู้ว่าจินตนาการเขามาจากความเป็นจริงรอบตัวจริงๆ

จากตรงนี้เราจะมองเห็น Jorkanden peak (สูง 6,473เมตร) และ Kinnaur Kailash Pek ซึ่งเป็นยอดเขา Jorkanden นี้ถือว่าสวยที่สุดในเขต upper Himalayas โดยทั่วไปจะถูกเมฆหมอกปกคลุม จะเห็นได้ชัดในช่วงพฤษภาคมและมิถุนายน

ด้วยความเป็นคนกลัวความสูงอย่างมาก ไม่กล้าห้อยขาหรือยืนโบกมือตรงหน้าผา ก็เอามันรูปนี้แล้วกัน รูปนี้ต้องมีคน จะได้เห็นว่ามันดูหวาดเสียวแค่ไหน Suicide Point, Kalpa, Himachal Pradesh, India

มาถึงที่นี้จะนั่งดูยอดเขาเฉยๆกน่าเบื่อ พี่ในกลุ่มทำการบ้านมา เจอจุดถ่ายรูป chedk in ดังใน IG รูปหนึ่ง ห่างจากที่พักไปเพียง 10นาที ชื่อตั้งให้หวาดเสียว Suicide Point ทุกคนจึงไปแอคหวาดเสียวตรงจุดหน้าเหวหน่อย

นั่งรถยาวๆอีกวันโดยเส้นทางวันนี้ไต่สูงขึ้นและต้นไม้เริ่มหายไปจะดูแล้งๆ ทางที่ขับขึ้นเป็นรูปซิกแซกหลายจุด ถนนเริ่มแย่ลงเป็นลูกลังมากขึ้น บ่ายแก่ๆเราก็มาถึง Nako นาโก้ บนความสูง 3,662 เมตร เมืองนี้แค่ขับรถเข้าเมืองก็รู้สึกร่มรื่น ที่พักเราเป็นแคมป์ที่น่ารักมากที่สุดเท่าที่เคยอยู่โรงแรมแบบแคมป์มา ตั้งอยู่บนเนินที่มองเห็นทั้งเมืองและเดินลงทะเลสาบเพียง 5 นาที (แต่เดินขึ้น 15นาที บันไดชันมาก)

เราใช้เวลาช่วงบ่ายแก่เดินเล่นในเมืองนาโก้ที่เป็นบ้านทำด้วยหินที่เอามาเรียงกัน และทำเป็นถนนแคบๆทั้งเมือง (ที่สร้างบ้านชิดๆกัน น่าจะมาจากความที่ที่โล่งสูงลมแรง จะได้กันลมได้) รถเข้าไม่ได้เลย พื้นถนนเป็นดินลูกลัง ชาวบ้านใช้หินที่เก็บมาจากภูเขารอบๆทำเป็นบ้าน รั้วและคอกให้วัวอยู่ซึ่งจะเห็นอยู่ทั่วไป บรรยกาศในหมู่บ้านน่ารักดี แต่แทบไม่เห็นคนในหมู่บ้านเลย เขาลงไปทำนากันหมด เพราะช่วงฤดูร้อนเป็นฤดูเดียวที่จะเก็บเกี่ยวพืชได้ ซึ่งเขาจะพยายามเก็บพืชที่จะมาทำเป็นฟางเพื่อใช้เลี้ยงวัว ม้าและลาให้ทันหมดฤดู

เราเห็นชาวบ้านขนหญ้าเป็นกอใหญ่ๆแบกขึ้นหลังกันไปเก็บในคอกวัวเป็นช่วงๆ บ่ายแดดร่มลมตก ชาวบ้านลงไปช่วยกันเก็บผักในทุ่งเป็นภาพที่น่าดู เราเดินผ่านเมืองซึ่งมีแต่คนเฒ่าคนแก่และเด็กที่เพิ่งเลิกเรียนวิ่งเล่นอยู่ จนถึงวัดทิเบตในเมือง เมืองนี้ผู้คนนับถือพุทธแล้วและจะเป็นเช่นนี้ไปจนสุดเขตสปิติ

ทางช้างเผือกแรกที่ถ่ายในทริปนี้ ที่แคมป์ตรงทะเลสาบ Nako Lake, Himachal Pradesh, India

คืนนี้ได้ถ่ายรูปทางช้างเผือกเป็นคืนแรกของทริปนี้ แค่ทานข้าวเย็นเสร็จราว 1ทุ่ม เดินออกมาก็เห็นทางช้างเผือกคาดอยู่บางๆบนท้องฟ้า และมีแคมป์เป็นฉากหน้า ดาวเหมือนอยู่ใกล้แค่เอื้อม

Nako Lake ทะเลสาบนาโก้เป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ พื้นที่ไม่ใหญ่เหมือนทะเลสาบที่เรารู้จักกันทั่วไป แต่เป็นแหล่งที่มอบชีวิตชาวบ้านหลายร้อยในเขตนี้ เวลาที่ควรชมคือเวลาเช้าตรู่ที่จะเห็นเงาของเมฆสะท้อนกับน้ำ และเงาของหมู่บ้านที่มีภูเขาหิมะเป็นฉากหลังตัดกับแสงแดดที่ส่องลงมาบนสันเขา

เช้านี้ระยะทาง 67 กิโลเมตร ไต่เขาข้ามเข้าสู่ Spiti Valley สปิติวัลเลย์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของทริปนี้ แต่เราใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง โดยผ่านหมู่บ้าน Sumdo เป็นหมู่บ้านแรกของสปิติ ระหว่างทางถนนเป็นลูกลัง และหลุมบ่อ นั่งแล้วลุ้นดีแท้ แต่เพราะนั่งมาหลายวันแล้วเริ่มชินกับทางโหดๆ ตามทางเห็นสายน้ำเชี่ยวกรากตีโค้งคู่กันกับถนนผ่านหุบเขาต่างๆ แทบไม่มีต้นไม้ให้เห็นเท่าไหร่ระหว่างทาง คาดว่าเราน่าจะเข้าเขตความสูงเกิน 3,000 เมตร และเราก็ผ่านแดนตรวจของทหารชายแดนที่ด่านทหาร เพราะถนนทั้งหมดในเขตนี้เป็นถนนที่ใช้สำหรับกองทัพตระเวณชายแดน


บ่ายแก่ เราก็เข้ามาถึงเมือง Tabo ทาโบ ลงมาที่ระดับความสูง 3,050 เมตร เมืองนี้เป็นเมืองที่มีพื้นที่ราบมากที่สุดเท่าที่เห็นในทริปนี้ เป็นแหล่งรวมรถประจำทางขนาดใหญ่และมีโรงแรมเรียงรายกันทั่วเมือง (ที่ว่าเรียงรายอย่าเข้าใจผิด ตึกแถวนี้เห็นได้ชัดว่าสร้างใหม่เป็นแบบตึกแถว) โดยมี Tabo Monastery เป็นจุดกลางของเมือง หน้า Tabo Monastery มีร้านขายของที่ระลึกด้วย (คือผ่านมาหลายเมืองมากเพิ่งมาเจอเมืองที่มีของขายนักท่องเที่ยว ตามนิสัยชาวไทย ได้เสียเงินสักที)

Tabo Monastery เป็นอารามที่ขึ้นเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ดูจากด้านนอกเราจะไม่รู้สึกเลยว่ามันเป็นมรดกโลกได้อย่างไร ภาพเขียนผนังด้านในเป็นทังก้าที่สวยงามและเก่าแก่มาก ก่อตั้งโดยท่านรินเชน ซังโปร Rinchen Zangpo ในสมัยที่แถบนี้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักร Guge ในศตวรรษที่ 10 Tabo Monastery เป็นวัดที่มีการบูรณะและสร้างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุปัน สิ่งที่ล้ำค่าของวัดคือภาพวาดฝาผนังและรูปปั้นพระอรหันต์และพระโพธิสัตว์ ที่มีอายุกว่าพันปี ภายในวัดที่ก่อขึ้นจากดินทรายมืดมาก ไม่มีไฟฟ้าภายใน ผู้เข้าเยี่ยมชมต้องใช้ไฟฉายที่ทางวัดเตรียมไว้ให้ส่องภาพซึ่งมีอยู่เต็มทุกผนัง บางส่วนก็เสียหายมากจนมีการวาดภาพใหม่ทับเมื่อหลายร้อยปีก่อน สีที่เหลืออยู่ของภาพแสดงให้เห็นว่าเดิมสีสดและสวยงามมาก เสียดายที่ไม่สามารถถ่ายภาพได้ สำหรับคนที่สนใจแนะนำอย่างมากให้เข้าไปดูภาพต่อได้ในลิงค์นี้ http://www.tabomonastery.com/

จาก Tabo มุ่งหน้าต่อไปที่ Dhankar ดังก้าเป็นเมืองหลวงโบราณของสปิติ ตั้งอยู่บนความสูงที่ 3,850 เมตร มีอารามโบราณอายุกว่า 1,200ปี สร้างบนหน้าผาสูงชันสามารถมองเห็นจุดบรรจบของแม่น้ำ Spiti และ Pin อารามหลายหลังถูกสร้างขึ้นในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาจนมีการสร้างทางเพื่อเชื่อมต่ออารามหลังต่างๆ เป็นภาพที่ดูแปลกตา เหมือนมีคนเอาตึกเหล่านั้นมาวางไว้บนไหล่เขา แล้วขีดเส้นโยงกัน (ที่เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างอาคาร)


ไฮไลท์ที่ Dhankar คือทะเลสาบ Dhankar Lake เป็นทะเลสาบเล็กตั้งอยู่บนความสูง 4,200เมตร ต้องเดืนเท้าขึ้นจากอารามไปอีก 2 กิโลเมตร ระยะทางนี้ถ้าเป็นทางราบและไม่ได้อยู่บนที่ราบสูงที่ออกซิเจนน้อยก็ถือว่าสบาย แต่ถ้าต้องเดินขึ้นและทางเป็นหินกรวดร่วนๆก็เหนื่อยเอาการทีเดียวเพราะทางลื่นและชันเป็นช่วง ต้องเดินจนเกือบถึงทะเลสาบจึงจะเห็นเป็นทะเลสาบ ระหว่างทางอยากหันกลับหลายครั้ง แต่ได้แรงเชียร์จากเพื่อนที่ไปด้วยกัน ซ้ำยังช่วยลากผ่านบริเวณทางแคบๆที่เป็นกรวดทรายร่วนๆให้ผ่านขึ้นมาได้

ทะเลสาบนี้มีน้ำเป็นสีเขียวเหมือนใบตอง เพราะสะท้อนสีของหญ้าที่ขึ้นอยู่โดยรอบ ช่วงหน้าร้อนน้ำจะระเหยเยอะมาก กลายเป็นพื้นที่ที่ชาวไร่จะมาปศุสัตว์ มีฝูงแกะและม้ามากินน้ำ

โชคดีมากที่ช่วงที่เราเก็บภาพมีฝูงม้าเข้ามาดื่มน้ำ พักผ่อนรอบทะเลสาบพอดี เป็นภาพที่เหนือความคาดหมาย และได้อยู่ใกล้กับม้าในธรรมชาติจริงๆ ดูสวยงามเหมือนภาพเขียน

พื้นที่แถบสปิติเพิ่งเปิดให้คนภายนอกเข้าในปี 1991 และพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางที่สุดของสปิติคือบริเวณ Kaza ถึง Kibber Kaza ถือเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเขตนี้ เมืองจะดูวุ่นวายมีถนนตัดเยอะแต่แคบและคดเคี้ยว มีคนอาศัยอยู่มากและตั้งอยู่บนความสูง 3,800 เมตร

เพื่อภาพนี้เลยที่ทำให้ดั่นด้นมาสปิติ Kee Monastery, Spiti Valley, India

จุดหมายหลักสำหรับตัวเองในการมาเยือนสปิติก็เพื่อ วัดพุทธทิเบต นิกายเกลุกปะ Kee Monastery ซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก Kaza ไป 12 กม บนความสูล 4,166 เมตร เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในสปิติ และเป็นศูนย์อบรมพระลามะ ตั้งแต่ศควรรษที่ 11 Kee Monastery ผ่านการถูกชาวมองโกเลียโจมตีใน ศตวรรษที่ 17 ถูกล้อมเป็นสนามรบอยู่กลางสงครามระหว่าง Ladak กับ Kulu ในช่วง คศ 1830 และเสียหายหนักจากแผ่นดินไหว ปี 1975 ปัจจุปันได้รับการบูรณะและเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย

ภาพอารามที่ตั้งอยู่สูงสง่าบนไหล่เขาของ Kee Monastery เป็นแรงบันดาลใจให้นักเดินทางมากมายเดินทางเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ หากเราค้นหาบนอินเตอร์เนตเกี่ยวกับ Spiti Valley ภาพนี้จะเป็นภาพที่ขึ้นเป็นภาพหลักเลยทีเดียว หากจะถ่ายภาพนี้ ต้องจอดรถที่วัดแล้วเดินออกไปทางเขาที่ตรงข้ามจากวัด ไปตามทางเล็กๆเพื่อขึ้นไปที่ศาลบนเชิงเขา จุดนี้จะเป็นจุดที่เห็นภาพ Kee Monastery ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

โชคดีเราไปทันเวลาที่พระลามะสวดกันอยู่พอดี จึงได้ฟังวิธีการสวดแบบพุทธทิเบตซึ่งมีการใช้แตร กระดิ่ง และฉาบ ที่ Kee Monastery ถือเป็นบุญเพราะอยากฟังแบบเต็มคณะแบบนี้มานานแล้ว ไปเยี่ยมวัดมากมายใน เลห์และภูฐาน ก็ยังไม่มีโอกาสเห็น

พระใหญ่แห่งลาซ่า Langza Big Buddha, Spiti Valley, Himachal Pradesh, India

บ่ายนั้นเราไปต่อกันที่ Langza ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปอีกที่ 4,400 เมตร จุดเด่นของหมู่บ้านนี้คือพระพุทธรูปที่ตั้งเดินสง่า เชื่อกันว่ามีอายุถึง 1,000ปี ภาพของพระใหญ่แห่งลังซ่า Langza Buddha ก็เป็นอีกภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของสปิติ

อันที่จริงเทือกเขาหิมาลัยเคยจมอยู่ใต้ทะเล Tethys เมื่อ 500ล้านปีก่อน ในบริเวณสปิติ Spiti Valley จึงเป็นเป็นเขตที่มีนักธรณีวิทยามาขุดหาฟอสซิลอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเขตหมู่บ้าน Langza ที่มีผู้อยู่อาศัยเพียง 137 คนนี้ ใครที่อยากได้ฟอสซิลลองถามเด็กๆในหมู่บ้านดู เขาเก็บกันได้ตามทุ่ง

จาก Langza นั่งรถไต่ขึ้นไปที่ Komic ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่สูงที่สุดในโลกที่ยังมีถนนเข้าไปได้ ที่ความสูง 4,587เมตร มีชาวบ้านอาศัยอยู่เพียง 114คน ส่วนมากปศุสัตว์ โดยมีอารามอยู่ในจุดที่สูงสุดมีพระจำวัดอยู่ราว 20 รูป และมีพิพิธภัณท์อยู่ด้วย บนนี้มองไปไม่มีต้นไม้มีแต่หญ้าอยู่เป็นหย่อมๆที่ชาวบ้านปลูกเพื่อเลี้ยงสัตว์ มีร้านอาหารและโรงเตี้ยมให้นักท่องเที่ยวพัก นอกจากพระลามะ 1รูป ชาวบ้านที่ขี่รถมอเตอร์ไซด์ผ่าน และวัว 1 ตัวที่ยืนเล็มหญ้าอยู่ ดูเงียบเหงามากๆ แม้จะเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดแล้วก็ตาม ร้านอาหารปิด

ทางช้างเผือก บนหมู่บ้าน Kaza, Spiti Valley, Himachal Pradesh, India

คืนนั้นกลับลงไปนอนที่เมือง Kaza เหมือนเดิม การย้ายของทุกวันเหนื่อยอยู่ จึงไม่ได้ย้ายโรงแรม มิฉะนั้นแนะนำไปอยู่โรงแรมในหมู่บ้านตรง Kee Monastery เพื่อเปลี่ยนบรรยกาศก็ดีนะ แม้จะอยู่ในตัวเมือง Kaza คืนนั้น เราก็ถ่ายทางช้างเผือกได้อีกคืน ตื่นเต้นกันกับคู่หูที่ขึ้นไปถ่ายบนดาดฟ้าโรงแรม แต่ไม่เห็นชาวบ้านไหนออกมาดูกันเลย เขาคงเห็นจนชินเสียแล้ว

วันต่อมา ต้องอำลา Spiti Valley แล้ว เราเดินทางออกไปทาง Kibber Village ซึ่งอยู่บนความสูง 4,270 เมตร ซึ่งหมู่บ้านนี้เดิมเป็นหมู่บ้านที่สูงที่สุดในโลก จนถึงช่วงปี 1980 หมู่บ้าน Komic ตั้งขึ้นจึงเสียแขมป์ไป Kibber มีชาวบ้านอาศัยอยู่ 366คน 80หลังคาเรือน มีโรงเรียนมัธยมปลาย ไปรษณีย์ และโรงแรมอยู่ ชาวบ้านมีอาชีพปศุสัตว์เป็นหลัก

ชาวบ้านที่นี้ค้าขายจามรีกับชาวลาดักซึ่งอยู่ในรัฐแคชเมียรที่ติดกัน ต้องเดินเท้าผ่านถนนในหุบเขา 3วัน ปัจจุปันชาวบ้านสามารถทุ่นเวลาลงได้ 10กิโลเมตร จากการที่รัฐบาลมาสร้างสะพานที่สูงที่สุดในเอเชีย Chicham Bridge ผาดผ่านช่องเขาสูง/ลึกกว่า 1000 ฟุต (ราวตึก 90ชั้น) สะพานชิคแฮม Chicham Bridge นี้ตั้งอยู่บ้านความสูง 4,145เมตร ใช้เวลาก่อสร้าง 14ปี มีความยาว 114เมตร เท่านั้น เดิมที่ชาวบ้านในหมู่บ้าน Kibber ใช้วิธีชักรอกด้วยมือ ชักข้ามร่องเขาตรงนี้ คิดดูว่าจะหวาดเสียวแค่ไหน

ภูมิประเทศที่เหมือนพื้นผิวดาวอังคารใน Spiti Valley, Himachal Pradesh, India

จากจุดนี้ไม่นานถนนก็ซิกแซกไล่ลงตามเขาไปเรื่อยๆและเข้าสู่ช่วงที่เราว่าสวยที่สุดและมีภูมิทัศน์แปลกตาที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา หุบเขาเป็นร่องเหมือนมีคนเพิ่งเอาทรายมาเทเป็นสันๆ สันทรายสีขาวอมเทาคมกริบ และเรียงตัวกันอย่างสวยงาม สายน้ำสีฟ้าตัดพันกันเหมือนไหมพรมไหลไปตามร่องเขา มองไปเหมือนพื้นผิวดวงจันทร์ดูเป็นทัศนียภาพต่างดาว หินแหลมๆเหมือนฟันภูตสีน้ำตาลเข้มฟุดขึ้นมาจากดินเป็นหย่อมๆ เสียดายที่เราไม่ได้หยุดรถลงไปถ่ายรูปอย่างจริงจังตรงนี้ เพราะคนขับมัวกังวลว่าเราจะไปถึงทะเลสาบจันทราไม่ทันพระอาทิตย์ตก คนขับเล่าว่ามีกองถ่ายมาถ่ายภาพยนต์ที่นี้หลายเรื่องเหมือนกัน

คิดแล้วเสียดายไม่หายที่เราไม่ได้ใช้เวลาถ่ายรูปดีๆสักใบที่นั้น ตามทางแทบไม่มีที่ให้จอด แต่รถสวนนานๆมาที ภาพที่ได้ทั้งหมดถ่ายจากบนรถที่กำลังขับอยู่ (เอาล่ะ ถือว่ามีเหตุผลให้มาใหม่แล้ว)

เราแวะผ่านหมู่บ้านสุดท้ายใน Spiti Valley เพื่อทานกลางวัน หมู่บ้านนี้เหมือนหมู่บ้านทางผ่าน มีสำนักชีอยู่และมีเด็กๆวิ่งเล่นในหมู่บ้าน เป็นที่เดียวที่เห็นเด็กเยอะ จะว่าไปคนพื้นเมืองในเขตนี้หน้าตาแบบชาวทิเบต และชาวไทยใหญ่ คือขาวๆ ตาตี๋ๆ

Kunzum La Pass เป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่บอกจุดเชื่อมต่อระหว่าง Spiti Valley กับ Kullu Valley มีกลุ่มเจดีย์ประดิษฐ์ฐานอยู่และมีธงมันตราผูกไว้ทุกทิศทางล้อมรอบเจดีย์ รถที่สัญจรผ่านมาต้องขับวนตามเข็มนาฬิกา 1 รอบเพื่อความเป็นสิริมงคล การผูกธงตรงนี้ก็ถือเป็มงคลเช่นกัน นอกจากความสูงกว่า 4,551 เมตรแล้ว ตรงนี้ยังเป็นช่องลม และมีเทือกเขาล้อมรอบ วิธีสักการะให้เขียนชื่อของเราลงบนธง เลือกเอาผืนไหนก็ได้ แล้วเอาไปผูกไว้ตรงที่ลมแรงที่สูด แนะนำให้ซื้อธงมาตั้งแต่หมู่บ้าน Kaza ที่นี้จะไม่มีขาย

และแล้วเราก็มาถึงทะเลสาบจันทราทันบ่าย 3 (ราว 5โมงพระอาทิตย์ตกดิน เนื่องจากอยู่บนเขาสูงพระอาทิตย์จะตกดินเร็วกว่าที่ราบ) Chandra Taal Lake ทะเลสาบจันทรา ความสูง 4,300 เมตร ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย (ที่ที่เราผ่านมาทั้งหมดอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยนะค่ะ เผื่อว่าอ่านนานจนหลง) ทะเลสาบศักดิ์สิทธินี้ มีรูปทรงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว น้ำใสมากและเป็นเฉดสีฟ้าครามสวยน่าหลงไหล ว่ากันว่าภาพพระจันทร์เต็มดวงที่สะท้อนบนทะเลสาบนี้สวยนัก จากจุดจอดรถเราเดินเท้าราว 30นาทีเพื่อเข้ามาถึงริมทะเลสาบ (ไม่อาจมองเห็นทะเลสาบจากจุดจอดรถได้) ทีแรกแดดร้อนมากแต่ลมแรง พอพระอาทิตย์ตกดินอากาศจะเปลี่ยนทันทีแบบพลิกฝ่ามือเลย อุณหภูมิตกลงทันที คนขับกำชับให้เราทุกคนเอาเสื้อนอกไปด้วย ตอนนั้นยังสงสัยว่าจะขนาดนั้นเชียวหรือ เราเดินกลับตอนพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า กลับมาที่รถหนาวสั่นได้ที่ เย็นนั้นอุณหภูมิลดลงเรื่อยๆจนเหลือเพียง 1 องศาตอนเที่ยงคืน

ที่พักมีแบบเดียวเท่านั้นคือแคมป์ เราพักแคมป์แบบหรูแล้ว คือมีบริเวณที่นั่งรับลมด้านนอก มีส่วนห้องนอนที่เป็นเตียงแบบโรงแรมซึ่งมีผ้าห่ม 3ชั้น และหมอนหนานุ่ม มีห้องน้ำด้านในสุดที่เป็นโถส้วมแบบนั่งชักโครก มีน้ำก็อกให้ใช้ได้ตลอด แต่มีไฟฟ้าและน้ำร้อนเป็นเวลา ราว 1 ชั่วโมง ไม่มีปลั๊กไฟ และมีหลอดไฟเพียง 1 ดวงต่อห้อง อาหารเย็นเรียบง่ายมาก จึงเลือกทานบะหมี่สำเร็จรูปจากไทย เอาความแซ่บสยบความหนาวได้บรรยกาศสุดๆ แต่น้ำร้อนก็เย็นเร็วมาก ทานไม่ทันถึงครึ่งก็ชืดเสียแล้ว

ทางช้างเผือกที่ทะเลสาบจันทรา Chandra Taal, Himachal Pradesh, India

คืนนี้เราได้เห็นทางช้างเผือกที่สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา กลุ่มดาวทั้ง คม ชัด ยาว ไล่จากเส้นขอบฟ้าฟาดขึ้นไปกลางท้องฟ้า เหมือนเราจะยื่นมือไปแตะได้ ยืนจิบโกโก้ร้อนทำเองในกระติกสูญญากาศและบิสกิต พร้อมลุ้นแบตเตอรี่กล้องจะดับไม่ดับเวลาถ่าย เนื่องจากอากาศที่หนาวและแบตที่เหลือน้อยไม่มีที่ชาร์ต ได้รูปมาสมใจ

แสงเช้าที่แคมป์บริเวณทะเลสาบจันทรา

ด้วยลมที่แรง อากาศหนาวถึงติดลบ 1 องศาในกลางดึก และออกซิเจนที่น้อย หลับได้ไม่สนิทเท่าไหร่ หลับๆตื่นๆพร้อมเสียลมกรรโชก พอเห็นแสงแรกก็รีบออกไปดู (คือไม่ได้อาบน้ำ เพราะหนาวมาก เขาว่าช่วงเช้าจะปล่อยน้ำร้อนมาจึงอยากรีบลุกเพื่อจะได้อาบก่อนน้ำหมด) ฟ้าเป็นสีชมพูรำไรสวยงามตัดกับยอดเขาสูง 6-7พันเมตรที่แลดูเหมือนเป็นเพียงเนินเขาที่อยู่รอบๆแคมป์ การอาบน้ำอุ่นจัดกลางอากาศหนาวๆนี่รู้สึกสดชื่นมาก

จากนั้นเราก็เริ่มออกเดินทางที่ใช้เวลาขับแทบทั้งวัน บนเส้นถนนที่เหมือนทางเดินน้ำมากกว่าหลายที่เป็นลำธาร และส่วนใหญ่เป็นกรวดเหมือนหน้าปราสาทโอซาก้า มีหลุมบ่อตลอดทาง

เราเดินทางด้วยรถเป็นคาราวาน 5 คัน ขับไล่ตามหลังกัน ทีแรกไม่เข้าใจว่าทำไมต้องขับเป็นกลุ่มตลอดทาง วันนี้เจอรถคันที่ 2 ซึ่งต่อจากเรายางแตกเพราะตกร่องหิน เจอทางเป็นหลุมไปต่อไม่ได้ คนขับทุกคันลงมาช่วยหาหินมากลบหลุมเพื่อสร้างทางต่อ เจอลำธารไหลเข้ามาในทางเดินรถจนมองไม่เห็นทาง คนขับช่วยกันเข็นข้าม วันนี้เรียกได้ว่านั่งรถเขย่าหัวกันทั้งวัน

ผ่าน Rothang Pass ซึ่งเท่ากับเราขับลดระดับความสูงจากเกิน 4,000 เมตรลงมาที่ 3,978เมตรตรง Rothang Pass ซึ่งเป็นทางเข้าสู่เมืองมะนาลีซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง สำหรับคนที่สนใจหรือเคยไปเที่ยวลาดัก เมืองมะนาลีคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการค้าโบราณไปยังลาดักและต่อไปสู่เลห์อีกด้วย



 

บันทึกเส้นทาง

เส้นทาง Spiti เป็น road trip ที่ตื่นเต้นด้วยความแคบของถนน ถนนที่ตัดชิดขอบเหว ถนนที่เป็นทางโค้งอันตรายแบบ dead curve (คือมองไม่เห็นรถสวนตรงจุดหักเลี้ยว) ทริปนี้ต้องยกเครดิตให้คนขับจริงๆ ต้องมีสมาธิและต้องสายตาดีมาก คอยมองพื้นถนนตลอด และเส้นทางขดเคี้ยวหาทางตรงแถบไม่ได้ สูสีกับเส้นทางอันตรายของโคราโครัมที่ปากีสถาน เพียงแต่ปากีสถานถนนกว้างกว่า เหวไม่ลึกเท่าที่นี่ คนขับเราละเอียดมาก สังเกตุว่าเราชอบถ่ายรูป ทุกครั้งที่จอดรถจะไปเช็ดกระจกรถไว้ให้ จบทริปเป็นเพื่อนรักกันไปเลย

ชักภาพกับกับคนขับรถที่กลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว

สนใจติดตามต่อได้บน facebook:

 

การเตรียมตัว

การไปที่กันดารเราควรเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดเพราะถึงเวลา มีเงินก็ซื้อไม่ได้ และถ้าเตรียมแล้ว ไม่ได้ใช้ บริจาคให้คนพื้นที่ เขาก็ยินดีรับ

การเตรียมตัวขึ้นที่ราบสูง (High Altitude) โดยทั่วไปให้กินยา Diamox 250mg ซึ่งเป็นยารักษาต้อหิน ยานี้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ สามารถลดความดันตา ซึ่งทางการแพทย์พบว่าสามารถช่วยร่นระยะเวลาในการปรับตัวเมื่อขึ้นที่สูงได้ เมื่อกินยานี้เข้าไปจะทำให้ร่างกายหายใจเร็วขึ้น เพราะยาทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดมากขึ้น ร่างกายหายใจเร็วขึ้นเพื่อขับกรดออกไป ในพื้นที่ระดับ 3,000เมตรขึ้นไป กินวันละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้าหรือเย็น 4,000เมตรขึ้นไป กินวันละ 2 เม็ด เช้าเย็นหลังอาหาร อาจมีอาการปลายนิ้วมือเท้าชา ปัสสาวะบ่อยขึ้น การรับรสแปลกไป โดยเวลาดื่มน้ำอัดลมจะรู้สึกแปร่งๆ แต่จะค่อยๆหายไปเอง อาจมีอาการนอนไม่หลับ ถ้าเป็นเช่นนั้นให้เปลี่ยนไปกินยาช่วงเช้า หรือทิ้งช่วงให้มากหน่อยทานก่อนนอน หยุดทานยาได้ถ้าปรับตัวได้แล้ว อาการแพ้ยามีผื่นขึ้น เป็นลมพิษ หรือ/และแน่นหน้าอก ให้หยุดยาทันที สำหรัยคนที่มีโรคปอด โรคหัวใจ และโรคไต ไม่สามารถรับยานี้ได้ และไม่แนะนำให้เดินทางไปที่ราบสูงด้วย


ข้อแนะนำเมื่อไปถึงต้องจิบน้ำตลอดเวลา และอย่ากังวลเรื่องห้องน้ำ เพราะมีให้เข้าแน่นอน เรื่องห้องน้ำ เส้นทางนี้ผู้คนค่อนข้างสะอาดและพอหาห้องน้ำได้ตลอดทาง เพียงแต่สภาพห้องน้ำจะดูเก่าหรือเรียบง่ายเกินไป ไม่ค่อยเจอแบบสกปรกแบบไม่ราดน้ำหรือเรี่ยราด ยิ่งเข้าเขตสปิติแล้ว ทางมันกันดารมากอาจมีรถเสีย ยางแตก ถนนขาด ซึ่งทำให้เราไปไม่ถึงที่ที่มีบ้านคน อันนี้ก็หาซอกหินเข้าแทน ข้อดีคือมีซอกหินเยอะมากๆ ไม่มีร่องรอยอาระธรรมเท่าไหร่ เพราะอากาศแห้งมากๆทุกอย่างจะระเหยเป็นผุยผงในไม่นาน ถ้าจะมีก็กระดาษทิชชูเรา พยายามอย่าใช้ทิชชูเปียกเพราะไม่รักโลก พบแล้วว่าทิชชูเปียกหลายแบรนด์เลยที่มีส่วนผสมของพลาสติก


เนื่องจากในเขตที่ราบสูงอากาศจะเบาบาง ยิ่งสูงยิ่งบางออกซิเจนน้อย ควรมีการเดินเคลื่อนไหวบ่อยๆ ลุก เดิน นั่งช้าๆ มีสติตลอดเวลา อย่านอนตลอดเวลา ถ้าง่วงในขณะที่ไม่ควรง่วงแสดงว่าเราเริ่มขาดออกซิเจนให้ดื่มน้ำ น้ำจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้กระฉับกระเฉง จะช่วยให้ปรับตัวได้เร็วขึ้น ที่สำคัญอย่าหมกตัวอยู่แต่ในรถ ให้ออกไปสูดอากาศเพื่อรับออกซิเจนเพิ่มเติมด้วย และอย่าปล่อยให้ร่างกายขาดความอบอุ่นจะทำให้ป่วยง่าย ในเขตนี้ไม่มีออกซเจนกระป๋องขายเหมือนจีน ถ้าไม่ไหวให้หาสถานพยาบาล(คนขับจะรู้) เพื่อเข้ารับออกซิเจนและประเมิณโดยแพทย์ว่าเราไปต่อได้หรือไม่

ที่พัก เนื่องจากสปิติเพิ่งเปิดให้โลกภายนอกเข้าไปไม่นาน และมีประชากรอยู่เพียง 1คนต่อตารางกิโลเมตร (รวมเด็กแล้ว) ใน 1ปีถนนจะเปิดเพียง 6 เดือน จึงไม่ต้องคิดว่าเขาจะมีโรงแรมเพื่อคอยต้อนรับดีมากมาย โรงแรมส่วนใหญ่เป็นระดับ Guest House / Home Stay แทบไม่เคยเห็นผู้หญิงทำงานเลย จึงไม่ต้องคิดว่าเขาจะทำความสะอาดละเอียดเนียบ ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ก็จะสีหมองๆหน่อย (หลายที่ไม่มีน้ำประปา) บางที่สงสัยว่าได้เปลี่ยนผ้าปู/ผ้าห่มไหมเหมือนกัน เพราะไม่เห็นตากหรือมีคนเอาไปซัก (คิดมากไปไหมเรา) สำหรับคนที่อนามัยมากเส้นทางนี้ไม่ใช่สำหรับคุณ แต่ถ้าใจรักการเดินทางจริง อย่าให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรค ของพร้อมซะอย่างยังไงก็ไปได้ แนะนำเตรียมผ้าหน้า/เช็ดตัวไปเอง เผื่อว่าวันไหนดูแล้วไม่ผ่านยังมีของตัวเอง หรือเอาไว้ปูหมอนรองนอน หรือนำถุงนอนไปเอง เอาแบบไม่หนามากที่ราคาไม่สูง เพราะเราสามารถใช้ผ้าห่มเขาคลุมทับได้ถ้าหนาวมาก เมื่อจบทริปถ้าไม่เอากลับก็ยกให้เขาไป เขาไม่มีของพวกนี้ขาย ก็จะชอบใจมาก โดยเฉพาะคนขับรถ

เตรียมขนมไปแบ่งเด็กเหมือนกัน แต่ตามเส้นทางนี้แทบไม่ค่อยเจอเด็ก

อาหาร อาหารเป็นไฮไลท์สำหรับการเที่ยวก็ว่าได้ อาหารในเส้นทางนี้ ถือว่ารสชาติใช้ได้ เพียงแต่คนที่นี้ส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัต ร้านอาหารมีขายอาหารที่ไม่เป็นมังสวิรัต แต่จะซ้ำๆ มีแต่ไก่ กับแกะ อาหารมื้อส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัต มีเนื้อให้ทานน้อยมาก พอจะมีปลาน้ำจืดแซมอยู่บ้างช่วงต้นทริปและปลายทริป คนที่นี้ทานข้าว แกงรสเข้มข้น และแป้งนาน (รสชาติดี) แต่อินเดียเป็นแหล่งปราบเซียนเรื่องความสะอาดของอาหารอยู่แล้ว ให้ยึดเอากินร้อนเท่านั้น (โชคดีอาหารที่ร้านทุกร้านจะทำ ณ ตอนที่เราสั่งเลย มันจึงช้ามาก เผื่อเวลาหน่อยจะได้ไม่หิวตายไปก่อน) ไม่ว่าจะกินง่ายกินยาก ให้เตรียมตัวให้ดี เพราะเราจะอยู่บนเส้นทางนี้อย่างน้อย เกือบ 2 อาทิตย์ คงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงอาหารเรา เอาน้ำพริก ซอสพริก ซอสภูเขาต่างๆ หมูฝอย หมูแผ่น หมูหยอง บะหมี่สำเร็จรูปรสต่างๆ ขนมขบเคี้ยวโปรดรสต่างๆ ไปด้วยระหว่างทางเส้นนี้ หาบ้านคนยาก จึงไม่ต้องคิดเรื่องซื้อขนมกินตามทางเท่าไหร่ อาหารพวกที่เราเตรียมไป ถ้าทานไม่หมดก็ไม่ต้องให้คนพื้นที่นะ เขาเป็นมังสวิรัติเคร่งกันและส่วนใหญ่ไม่ทานอาหารที่ไม่รู้จัก คล้ายชาวปากีสถาน อาจเป็นเพราะเคร่งศาสนา

คนพื้นเมืองแทบทุกคนในเขตนี้สวมเสื้อผ้าพื้นเมือง และเราจะเห็นชุดที่ต่างไปเมื่อผ่านเมือต่างๆ

เสื้อผ้า แม้ช่วงที่ไปได้จะเป็นช่วงฤดูร้อน แต่อากาศบนเขาเวลากลางวันจะแดดร้อน ตัวไหม้เลยทีเดียว แล้วพอหมดแสงอาทิตย์ก็จะหนาว แนะนำให้พก:

- เสื้อหนาว => แบบเสื้อขนเป็ดแบบบาง เอาไว้ใส่ตอนกลางคืน และเพื่อว่าห้องโรงแรมไม่สะอาดก็เอามาเป็นผ้าห่มเลย

- ผ้าบัฟกันแดด/หน้ากาก => แดดแรงเปรี้ยงมากควรใส่ และฝุ่นเยอะมาก เพราะอากาศแห้งมาก ไม่ค่อยมีต้นไม้ พอลมมาก็เป็นฝุ่นปลิว ในรถก็ไม่นิยมเปิดแอร์กันจะเปิดหน้าต่าง เพื่อประหยัดน้ำมัน เนื่องจากหาปั้มยาก

- หมวก/ผ้าคลุม => แดดแรงเปรี้ยงมาก ถ้าเป็นผู้หญิงที่นั่นส่วนใหญ่ใช้ผ้าคลุมกัน นอกจากกันแดดก็กันฝุ่นด้วย เพราะน้ำหายาก เขาก็ไม่ค่อยสระผมกัน จึงไม่อยากให้ผมสกปรก

- แว่นกันแดด => แดดแรงเปรี้ยงมาก

- ลิปมัน => อากาศแห้งมาก หรือซื้อของดีของอินเดีย Himalaya มีขายทุกเมือง ราคาย่อมเยามาก

- ครีมกันแดด => แดดแรงเปรี้ยงมาก

- ครีมทาตัว => อากาศแห้งมาก ให้เตรียมแบบข้นๆ หรือซื้อของดีของอินเดีย Himalaya มีขายทุกเมือง ราคาย่อมเยามาก

สิ่งอื่นที่แนะนำ

- กระติกเก็บความร้อน => เป็น item นักเดินทางเลยทีเดียว แนะนำเป็นน้ำร้อนในกระติกเก็บความร้อน เอาไว้จิบ เพิ่มความอบอุ่นและดับกระหาย คนอินเดียไม่นิยมดื่มน้ำเย็น ไม่ต้องพูดถึงน้ำแข็งน้ำแข็งเขาไว้แช่ของสด ฉะนั้นจะไม่ได้ทำมาจากน้ำดื่ม เป็นน้ำประปาซึ่งท้องเสียแน่ ถ้ายากกินน้ำข็งให้เตรียมถาดไปเอง ซื้อน้ำขวดแล้วทำเอง แต่เส้นนี้ไม่เคยเห็นตู้เย็นในโรงแรม ทุกร้านอาหารในอินเดียเราสามารถขอน้ำร้อนได้ เอาไว้จิบโดยเฉพาะตอนดึกๆ

- ถุงอุ่น => เอาไว้ใช้ในวันที่หนาวมากๆ เช่นทะเลสาบจันทรา จะได้ไม่ต้องพกเสื้อไปเยอะ ถุงหนึ่งใช้ได้ 8-14 ชม

- Power Bank/Battery => เตรียมไว้เผื่อๆเลยเพราะไฟฟ้าเขาไม่เสถียร อาจชาร์จไม่เข้า

 

ติดตามเรื่องใหม่ๆ ได้ที่

Facebook:

Instagram:

2,018 views

Comments


bottom of page