top of page

Varanasi, India

Updated: Apr 22, 2020

เดินทางช่วง ธันวาคม 2019 ระยะเวลาเดินทาง 3 วัน

พาราณสีคืออินเดียที่เราจินตนาการ เรื่องราวที่เราได้ยินเกี่ยวกับอินเดียทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคา พิธีการเผาศพ คนกับสัตว์ใช้ถนนร่วมกัน ความสกปรกและความแออัด สิ่งเหล่านี้ล้วนพบเจอได้ในพาราณสี สำหรับชาวตะวันตกเมืองนี้เป็นเมืองที่พลาดไม่ได้เลยทีเดียวเมื่อมาเยือนอินเดีย สำหรับชาวพุทธ เมืองนี้อยู่ในเส้นทางแสวงบุญ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมเป็นครั้งแรกนอกเมืองพาราณสีนี้

พาราณสีเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 4.000ปี และยังเป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอีกด้วย โดยตลอดระยะเวลานี้พาราณสีเป็นศูนย์กลางของความรุ่งเรืองและวัฒนธรรมเสมอมา ชาวอารายัน Aryans เป็นชนชาติแรกที่ตั้งรกรากอยู่ที่นี่ และพาราณสีกลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหม งาช้าง เครื่องหอมและงานแกะสลักต่างๆ ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุปัน

พาราณสีเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวฮินดู และจัดเป็นอันดับหนึ่งจากเจ็ดสถานที่ศักดิ์สิทธิฝืของศาสานฮินดู เนื่องจากชาวฮินดูเชื่อกันว่าพระศิวะเป็นฺเป็นผู้สร้างเมืองพาราณสี เรื่องมีอยู่ว่าในครั้งที่พระศิวะสู้กับพระพรหม พระศิวะตัดเศียรหนึ่งจากห้าเศียรของพระพรหม และทำตกลงมาตรงจุดที่เป็นเมืองพาราณสี ทำให้เมืองเกิดความศักดิ์สิทธิ์ และต่อมาหลังจากที่พี่น้องบันดาวาสชนะสงครามที่ทุ่งคุรุเกษตร (ตามเรื่องเล่าในมหกาฬมหาภาราตะ) เหล่าพี่น้องทั้งสี่ก็เดินทางมาที่พาราณสี เพื่อตามหาของวิเศษของพระศิวะเพื่อไถ่บาป ด้วยเหตุนี้ชาวฮินดูจึงเชื่อว่าพาราณสีเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ต่อมาราว 100ปีก่อนพุทธกาล พาราณสีกลายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร Kashi ซึ่งเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมีเส้นทางการค้าสำคัญผ่าน และตรงบริเวณนอกเมืองพาราณสีนี้เองที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมเป็นครั้งแรกที่ Sarnath สารนาถ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สถานที่ศักดิ์สิทธิของชาวพุทธด้วย

พาราณสีเป็นเป้าหมายแห่งการยึดครองและทำลายในหลายยุคสมัย และในช่วงที่ตกต่ำที่สุดคือช่วง 300ปี (ปี ค.ศ.1194-1498) ที่ถูกราชวงศ์ Chero ซึ่งเป็นมุสลิมปกครอง Golden Temple (Vishwanath Temple) วิหารทองคำซึ่งเป็นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับชาวฮินดู ถูกเปลี่ยนเป็นสุเหร่า จนภายหลังจากสิ้นราชวงศ์ Cheroแล้ว พระเจ้าออรังเซป Aurangzeb แห่งราชวงศ์โมกุน ซึ่งเป็นบุตรชายของพระเจ้าซาจาฮาน Shah Jahan (ผู้สร้างทัชมาฮาน) ได้สร้างวิหารทองคำใหม่ที่เห็นในปัจจุปัน และย้ายส่วนที่เป็นสุเหร่าไปอยู่ด้านข้าง ถือเป็นความฉลาดของพระองค์ในการปกครองที่ให้ทุกศาสนาคงอยู่ได้ด้วยกันอย่างสงบสุข เพราะในยุคของราชวงศ์โมกุนมีการขยายอาณาเขตการปกครองกว้างไกลมาก

ชาวฮินดูมีความเชื่อว่าการได้อาบน้ำจากแม่น้ำคงคา น้ำนั้นจะชะล้างบาปและกำจัดสิ่งชั่วร้ายได้ เราจึงเห็นคนลงอาบตามท่าน้ำมากมาย โดยเฉพาะช่วงเวลารุ่งสร่าง ซึ่งเราจะเห็นคนเนื่องแน่มาให้พรหมทำพิธีให้ตรงท่าน้ำ ก่อนลงอาบน้ำในแม่น้ำ

หากอยากเห็นกิจกรรมต่างๆของพาราณสีให้ชัด แนะนำลงเรือล่องแม่น้ำคงคาและแนะนำเป็นลำเล็กที่นั่งได้ 4-6คน ในการเยี่ยมชม เนื่องจากเมืองนี้สร้างเรียบแม่น้ำ สิ่งก่อสร้างสำคัญทั้งหลาย และพิธีต่างๆจะทำบนบริเวณริมน้ำ สายน้ำของแม่น้ำคงคาสงบมาก เหมาะกับเรือลำเล็กเพราะจะเข้าใกล้ท่าต่างๆได้ดีกว่า ซึ่งที่นี้มีท่าน้ำมากถึง 87แห่ง ส่วนมากถูกสร้างในช่วงศตวรรษที่ 18 มีชื่อหรือตำนานเกี่ยวเนื่องกับตำนานของฮินดูเป็นส่วนมาก ท่าน้ำที่สำคัญมี 4แห่ง 1) Manikarnika Ghat ท่าเผาศพ 2) Dashaswamedh Ghat ท่าที่มีพิธีบรวงสรวงแก่พระแม่คงคา 3) Assi Ghat ท่าที่มีคนนิยมลงอาบน้ำ และ 4) Scindia Ghat ท่านี้มีวัดที่สร้างเผื่อพระศิวะจมอยู่เนื่องจากการก่อสร้างท่าเรือนี้ ข่วงเช้าตรู่และช่วงพระอาทิตย์ตกดินเป็นช่วงที่น่าชมกิจกรรมต่างๆในเมืองจากทางเรือมากที่สุด

ช่วงเช้าท้องฟ้าจะเป็นสีชมพูเข้มเสมอในช่วงฤดูหนาว ซึ่งย้อมสีเมืองโบราณนี้เป็นสีหวานแปลกตา และมีนกบินเป็นฝูงๆ เป็นภาพที่ดูหวานโรแมนติก ช่วงเช้าไม่ควรพลาดท่าน้ำ Assi Ghat ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำคงคาบรรจบกับแม่น้ำอัสซี่เป็นจุดที่ผู้แสวงบุญนิยมมาอาบน้ำก่อนการเข้าไปกราบไหว้พระศิวะที่วิหารทองคำ

ส่วนช่วงเย็น เราจะเห็นพิธีเผาศพของชาวฮินดูตรงบริเวณท่าน้ำ Manikarnika Ghat ได้ชัดเจน แต่เขาจะกันไม่ให้เรือเข้าเทียบฝั่งตรงนี้เพื่อไม่เป็นการรบกวนพิธี ถ้าคุณมีโอกาสล่องเรือได้เพียง 1 ครั้ง ควรเลือกช่วงรุ่งสร่าง โดยลงเรือราวตี 5 เพื่อจะได้เห็นแสงแรกที่ส่องลงบนเมือง

ถนนหนทางในเมืองไม่ได้น่าพิศมัยนัก เพราะแคบมากประมาณตรอก มีทั้งคน วัว สุนัข ลิง และของที่ทิ้งกันเกลือนถนน ผู้ที่มาแสวงบุญจะเดินเท้าเปล่ากัน และการเคลื่อนย้ายสิ่งของ และศพก็ผ่านตรอกแถวนี้ ในเมืองจะมีทั้งโยคีจริง โยคีนักแสดงและคนธรรมดาที่แต่งตัวเหมือนโยคีเดินกันวอน เหมือนว่าเป็นแหล่งรวมผู้วิเศษ อย่างว่าในอินเดีย คนเหล่านี้ดูไม่แปลกตาหรอก มีอยู่ทุกเมือง และชาวเมืองโดยทั่วไปของอินเดียก็ยังคงแต่งกายประจำถิ่น เหมือนว่ากาลเวลาไม่สามารถทำอะไรได้ อินเดียยังคงดำเนินชีวิตตามจังหวะของตนเองซึ่งเป็นเสน่ห์หนึ่งของชาวภารตะ

เราโชคดีที่ได้ไปเยือนวังส่วนตัวของรานีแห่งหนึ่งซึ่งปัจจุปันถูกทิ้งร้าง เหลือแค่ครอบครัวผู้เฝ้า จึงรู้ว่าในเมืองนี้มีบ้านแบบนี้อยู่หลายแห่งสำหรับพวกราชนิกุลจากแคว้นต่างๆมาพักเมื่อมาแสวงบุญ ที่จริงบ้านด้านในถนนแคบๆเหล่านี้ค่อนข้างโอ่โถงเมื่อเทียบกับถนนแคบๆด้านนอก และบ้านส่วนใหญ่เป็นตึกอายุหลักร้อยปีทั้งนั้น

ในเมืองพาราณสีมีศาลและวัดมากถึง 2,000แห่ง ตามตรอกเล็กๆทั่วเมือง ชาวฮินดูเชื่อว่าการได้มาตายที่นี้เป็นสิ่งที่ดี วิญญานจะได้ไปสู่สุขติและได้หลุดพ้นจากวงจรของความทุกข์ ลานเผาศพจึงจัดการต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน ไม่เว้นวันหยุด เสียดายที่ปัจจุปันมีการทุบตึกเก่าเป็นร้อยหลังเพื่อเปิดทางเดินกว้างให้ผู้แสวงบุญได้เดินจากวิหารทองคำไปที่ท่าน้ำได้โดยไม่ต้องเดินอ้อมเมือง ก่อให้เกิดการแออัด แต่ก็เท่ากับการทำลายความเป็นเอกลักษณ์ของพาราณสีเดิมไป

การเผาศพมีอยู่2-3ท่า แต่เฉพาะที่ Manikarnika Ghat เป็นลานหลัก จะเห็นท่อนซุงมากมายกองพะเนินล้นท่าน้ำ และตรอกรอบๆ คนที่มีสตางค์สามารถซื้อไม้ราคาแพงก็เผาได้เร็วและหมดจดกว่า ในขณะที่คนที่มีน้อยกว่าอาจต้องซื้อฟืนที่เหลือจากการเผาไปบางส่วนมาผสมเพื่อเผา ตามธรรมเนียมศพจะถูกเคลื่อนย้ายมาตามตรอกจากบ้านดับจิต แล้วยกลงไปที่ท่าน้ำเพื่อเอาลงไปจุ่มน้ำทำพิธีก่อนที่จะเอาขึ้นไปตรงจุดที่เผา จากนั้นพรหมที่มีหน้าที่เผ่าศพจะนำไฟศักอิ์สิทธิจากเตาซึ่งไม่มีวันดับตรงกลางอาคารมาจุดไม้เผาศพ รอจนเผาเป็นที่เรียบร้อย พรหมคนเดิมจะเก็บกระดูกและนำกระโหลกมาทำพิธีอีกครั้งตรงท่าน้ำ ทุบกระโหลกให้แตกแล้วเอาทั้งหมดลอยแม่น้ำคงคา ในลานเผาศพญาติจะไม่ถูกอนุญาติให้เข้า แต่จะยืนอยู่รอบๆเพื่อเฝ้าดูพิธีเป็นการส่งตัวครั้งสุดท้าย

ถัดจาก Manikarnika Ghat ไปอีกหน่อยคือท่า Dashaswamedh Ghat ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการทำพิธี Ganga Aarti ซึ่งเป็นการบรวงสรวงแก่พระแม่คงคาทุกคืน เป็นพิธีที่มีคนเข้าชมจำนวนมาก โดยจะเริ่มราว 6โมงเย็นในช่วงฤดูหนาว หรือ 1ทุ่มช่วงหน้าร้อน พิธีนี้ยาว 20-30นาที เป็นการบูชาไฟ ซึ่งผู้บรวงสรวงจะเป่าสังข์ สั่นกระดิ่ง และใช้กำญานในการร่ายรำแด่พระแม่คงคา มีเวทีหันหน้าออกไปทางแม่น้ำ สามรถมองเห็นได้จากเรือ เป็นพิธีที่ไม่ควรพลาด นักท่องเที่ยวบางคนมาชมซ้ำทุกวันเพราะหลงไหลการร้องรำ

การไปเยือนพาราณสีพลาดไม่ได้ที่จะต้องไปเยือน Sarnath สารนาถ ที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมเป็นครั้งแรก และเป็นหนึ่งในสี่สถานที่ศักดิ์สิทธิของชาวพุทธ เพราะอยู่ห่างจากเขตเมืองเก่าของพาราณสีเพียง 10กิโลเมตร สารนาถมีความสำคัญ เพราะเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองจนสำเร็จเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสามารถสั่งสอนสิ่งที่ตรัสรู้แก่ชาวโลก โดยทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรอันเป็นปฐมเทศนาแก่คณะปัญจวัคคีย์ทั้งห้า เป็นเหตุให้เกิดพระธรรมซึ่งเป็นคำสั่งสอนขึ้นเป็นคำรบแรก และเมื่อจบปฐมเทศนา ท่านโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน พระพุทธทรงเป็นผู้บวชให้เองก็เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์รูปแรกของโลก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ซึ่งต่อมากลายเป็นวันอาสหบูชา

สถานที่สำคัญที่ต้องไปเยือนคือ Isipatana Deer Park บริเวณป่าอิสิปตนมฤคทายวันในอดีต ปัจจุบันได้กลายเป็นที่ตั้งของธัมเมกขะสถูป ที่ชาวพุทธจากทั่วโลกเดินทางมาแสวงบุญ และพิพิธภัณฑ์สารนาถ ซึ่งจัดแสดงพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยที่สุดในโลก และเสาหินศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก

โดยที่รอบบริเวณป่าอิสิปตนมฤคทายในปัจจุบัน คงเหลือเพียงซากโบราณสถานที่สำคัญกระจายอยู่เป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งเป็นกษัติย์อินเดียที่ทรงนังถือพุทธ ทรงโปรดให้สร้างขึ้น ราว 500ปีหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรม โดยจุดสำคัญได้แก่

เจาคันธีสถูป: เป็นจุดที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงพบกับปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่แห่งนี้ แต่สภาพที่เห็นปัจจุบันมีการต่อเติมในเวลาต่อมา ไม่ได้สร้างด้วยพระเจ้าอโศกมหาราช บริเวณรอบองค์สถูป ปรากฏมีการสร้างธรรมจักรไว้โดยรอบ

ธัมเมกขสถูป: เป็นจุดที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์

มูลคันธกุฎี: เป็น “กุฏิ” ที่พระพุทธเจ้าประทับในพรรษาแรกหลังการตรัสรู้

ซากฐานเจดีธรรมราชิกสถูป: มีศิลาจารึกพระเจ้าอโศก

ว่ากันว่าราว ศตวรรษที่ 7 พระถังซำจั๋ง (เรื่องเล่าจีนไซอิ๋ว) เดินทางมาที่นี่ และได้ลงบันทึกไว้ว่าเมืองสารนาถเจริญรุ่งเรืองสุดๆ ในสมัยราชวงศ์คุปตะ มีอารามสงฆ์ถึง 30 แห่ง และมีพระสงฆ์อยู่ในสารนาถราว 3,000 รูป ศึกษาพระธรรมแนวหินยาน มีพระสถูปสูง 100 เมตร มีเสาศิลาจารึกรูปหัวสิงห์อันเป็นตราประจำพระองค์ของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งแสดงว่าเคยเสด็จฯ มาที่นี้

สารนาถถูกทิ้งรกร้างหลังการยึดครองของราชวงศ์ Chero กว่า 300ปี และถูกต้นพบโดย Alexander Cunningham อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม นายทหารช่างชาวอังกฤษ ผู้เป็นบิดาแห่งกรมสำรวจโบราณคดีแห่งอินเดีย พบมฤคทายวันแห่งนี้เข้าในสภาพที่เป็นป่าปกคลุมพื้นที่ราว 1 ตารางกิโลเมตร และการขุดค้นบูรณะซากโบราณสถานสารนาถในปี ค.ศ. 1837

ที่พลาดไม่ได้คือพิพิธภัณฑ์สารนาถ ภายในมีพุทธศิลปเล่อค่าสวยงามมากมาย ส่วนสำคัญที่สุดคือเสาหินศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกที่ตั้งอยู่ตรงทางเข้า ตราสัญลักษณ์บนเสานี้เป็นมีสิงห์ ๔ หัวหันหลังชนกัน (จตุรสิงห์) ปัจจุบันนำมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำชาติของอินเดีย เสาเป็นหินทรายแดง จากเมืองจูนาร์ เดิมสูง 15.25 เมตร เสาหินหักลงมา ส่วนหัวจึงถูกเก็บไว้ที่นี่

ยังมีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยที่สุดในโลก ซึ่งสร้างขึ้นในยุคสมัยคุปตะ Gupta ซึ่งเป๋นยุคที่มีความเจริญสูงสุด ด้านพุทธศิลป์ พระพุทธรูปนี้ ที่ถูกค้นพบ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนี่เอง

นอกจากนี้แล้วสารนาถมีวัดศรีลังกา วัดธิเบต วัดไทย มาสร้างอยู่ ถ้ามีเวลาจะเดินเยี่ยมชมทุกวัดก็ดี ตอนที่เข้าไปนมัสการในอุโบสถ ได้เจอคณะช่างศิลป์ชาวญี่ปุ่นที่มาบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังพอดี แม้จะเป็นเรื่องเล่าชาดกเหมือนกันแต่เป็นการวาดแนวเซน

ตามถนนนอกวัดและป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มิได้เปลี่ยวแต่อย่างใด มีคนมาขายของกิน ของที่ระลึกกันเป็นทางยาว และเราจะเห็นพระนิกายต่างๆเดินกันเป็นกลุ่มอย่างหนาตา

จากการเดินทางไปอินเดียหลายครั้ง ทุกครั้งที่ไปจะรู้สึกทึ่งกับสิ่งต่างๆที่เห็นในประเทศที่เหลือเชื่อนี้เสมอ ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมที่เข้มข้น พาราณสีถือเป็นเมืองที่สุดโต้งและมีสีสันมากที่สุดเมืองหนึ่ง แต่เมืองนี้อาจไม่ใช่เมืองสำหรับทุกคน ส่วนตัวรู้สึกว่านักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ (คนนอก) เยอะไปจนรู้สึกว่าขาดเสน่ห์จากคนในพื้นที่ไปหน่อย แต่ถือเป็นที่ที่ควรไปเห็นด้วยตาสักครั้งในชีวิต

 

การเตรียมตัว

หลายคนลือถึงความสกปรกของถนนในพาราณสี ด้วยความที่ถนนแคบมากและถูกประกบด้วยรั้วบ้านหรือตึกปูนขนาบสองด้านจนไม่มีแสงแดดส่องลง และสัตว์ต่างๆทั้งวัว ลิง นกยูง คน สิ่งของและศพเดินเบียดกันแน่น ตามพื้นจะมีขยะและสิ่งปฎิกุลตกอยู่เป็นช่วงๆ แนะนำให้ใส่รองเท้าที่ไม่ต้องการแล้วเผื่อว่าเกิดโชคดีเหยียบถูกของดีแล้วไม่ต้องการซักรองเท้าจะได้ทิ้งได้ คนพื้นเมืองคงไม่ถือถ้าต้องเก็บไปซักล้างและเอาไปใช่ต่อ หรือใส่รองเท้ายางแล้วล้างเอา หรืออีกวิธีคือการไปเยี่ยมในช่วงเช้าตรู่ซึ่งคนน้อย และจะได้ภาพในช่วงที่แสงสวยมาก

พาราณสีไม่เหมาะกับการเยือนตลอดปี ช่วงกลางปีอากาศจะร้อนมากและมีฝนตกหนักเป็นช่วงมรสุม เวลาที่ดีทึ่สุดคือต้นปีและปลายปี ช่วงเช้าและเย็น อากาศจะเย็นราว 17-19องศาในช่วงเช้าตรู่ ต้องเสริมเสื้อหนาว แต่กลางวันแดดร้อนใส่ชุดสบายๆเหมือนอยู่ไทยได้เลย

แป้งทอดที่โปะด้วยแกงกระหรี่แบบม้งสวิรัต

อาหารอาจไม่ถูกปากและยังต้องระวังเรื่องความสะอาดอย่างมาก แนะนำการกินอาหารที่ปรุงสุกและร้อนเท่านั้น น้ำเย็นควรเตรียมไปเองโดยการแช่น้ำขวดในตู้เย็นแล้วเทใส่กระติกสูญญากาศเพื่อเก็บไว้จิบ คนอินเดียไม่มีนิสัยกินน้ำแข็ง ฉะนั้นน้ำแข็งที่เห็นตามตลาดจะเป็นน้ำแข็งที่มาจากโรงน้ำแข็งซึ่งใช้น้ำประปา ส่วนตามร้านอาหาร ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำที่ใส่เหยือกไว้ หรือถ้ามีน้ำขวดใหญ่แบบขวดน้ำดื่มที่ขายบนโต๊ะให้เช็คก่อนว่าขวดน้ำดื่มนั้นเปิดซิลไว้หรือยัง เคยเจอน้ำใส่ขวดน้ำดื่มแบบเนสเล่มา แต่เปิดแล้วใส่น้ำในขวดมาเวียน แต่ไม่ใช่ที่อินเดียเป็นที่เนปาล จึงต้องระวังหน่อยสำหรับคนที่ธาตุไม่แข็งพอ คนอินเดียเองมักดื่มน้ำชาร้อนๆ โดยเฉพาะชานมแบบอินเดียที่มีขายกันทุกแห่งหน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็กเพียงใด ซึ่งแต่ละแห่งจะรสชาติต่างกันแต่จะต้มสดทุกที่ ซึ่งปลอดภัยที่จะดื่ม แนะนำให้เตรียมกระติกสูญญากาศเพื่อไว้ใช้แทนถ้วยชาติดตัวไว้เสมอ

การเที่ยว แนะนำให้ลงเรือทั้งเช้าเย็นและเป็นทุกเช้าทุกเย็นที่อยู่ที่พาราณสี เนื่องจากมีกิจกรรมต่างๆมากมายเกิดขึ้นให้เราได้เห็น โดยเฉพาะคนที่ชอบถ่ายรูป จะถ่ายกันไม่ทันเลยทีเดียว ค่าล่องเรือราคาถูกมากแต่ควรคุยราคาให้เรียบร้อยและจ่ายตอนจบพร้อมค่าสินน้ำใจเพิ่มเล็กน้อย

716 views

Comments


bottom of page