top of page

Yading, China

Updated: May 21, 2020

เดินทาง: กลางตุลาคม 2018 ระยะเวลาเดินทาง 9วัน

Last Sanctuary on Earth

จะว่าไปจีนมีที่เที่ยวเยอะมาก แต่จะได้เจอวิวหุบเขาที่มีแต่ต้นไม้สีเหลืองแนวฝรั่งแบบนี้ก็ต้องเป็นย่าติง Yanding นี้ล่ะ ภาพที่สวยแบบโปสการ์ดนี้มีให้เห็นเพียงเดือนตุลาคมของทุกปีเท่านั้น


จาก 0 ถึง 4,100 เมตร

ด้วยทริปนี้ไปย่าติงเป็นหลัก จึงเลือกบินลงที่เฉินตู มลฑลเสฉวน ถึงเฉินตูแต่เช้าตรู่ก็เดินทางต่อเข้าเขตปกครองตนเองชนเผ่าทิเบตกันเจ๋อ甘孜藏族 自治州 ทันที ระยะทางกว่า 400กิโลเมตรไล่ขึ้นไต่ไปตามเขา โดยผ่านด่าน 多折山 ภูเขาตัวเจ๋อซานที่สูงถึง 4,100เมตร ซึ่งถือเป็น mountain pass ด่านแรก จากคิดดูจากประตูสนามบินเฉินตูถึงจุดนี้ ประมาณ 4-5 ชมเท่านั้น ร่างกายมุนษย์ทั่วไปปรับไม่ทันกับระดับความสูงแบบนี้

ภาพแรกที่เห็นเมื่อลงรถเป็นยอดเขาสีขาวตระการตามาก นี้แค่ mountain pass แรก ด้วยความดีใจรีบไต่บันไดไปชักภาพกับเจดีย์และธงทิเบตที่ปลิวไสวบนเนินเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ แต่เดินขึ้นไปได้นิดเดียวเริ่มมึนหัวเหมือนถูกคนเอามือมากดกะหมอมด้านหน้าไว้ ลมแรงมาก อณุหภูมิ ไม่ถึง 5 องศา ยิ่งเดินขึ้นสูงหิมะที่จับเป็นน้ำแข็งหนาก็ยิ่งเยอะ เลยล้มเลิกไม่ขึ้นไปสุด เราเพิ่งมาจากไทยที่อากาศ 29องศา มาถึงยอดเขาที่อุณหภูมิต่างกันถึง 25องศา แถมลมโกรกยังไม่ได้เตรียมใส่ชุดกันหนาวเพียงพอเลย ข้างใต้เสื้อนอกเป็นเสื้อยึดแขนสั้นใส่แค่นี้เริ่มเอาไม่อยู่ วันแรกด้วยนะถนอมตัวหน่อยก็ดี กลับไปขึ้นรถเห็นหลายคนสีหน้าไม่สู้ดี

สำหรับตัวเองอาการต้านที่สูง (หลักๆคืออาการมึนหัว)ยังรับพอได้ เพราะเตรียมตัวมาอย่างดี ในขณะที่ชาวเพื่อนร่วมทางอีกหลายคนนั่งมึนบนรถจากอาการแพ้ที่สูงแบบอ่อนๆ เราก็ได้ภาพมาเล็กน้อย ที่เหลือของวันแรกก็แค่นั่งรถผ่านหุบเขาและทางคดเคี้ยว ทำให้หลับๆตื่นๆ จะหลับมากกว่าตื่นบนรถทั้งวัน พอถึงโรงแรมก็อยากหลับต่อ (เป็นกันทุกคนเนื่องจากออกซิเจนน้อย จะทำให้ง่วงเพราะขาดออกซิเจน แต่ก็นอนไม่เต็มอิ่มอีกเพราะขาดออกซิเจนอีก จะทำให้เกิดอาการหลับๆตื่นๆแบบนี้) นอนวนไป ปัจจุปันสิ่งอำนวยความสะดวกในจีนดีมากเพราะจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกแล้ว ถนน อุโมงค์ และรางรถไฟในจีนถูกสร้างใหม่ทุกวันเพื่อร่นระยะทาง โรงแรมใหม่ๆที่มีอุปกรณ์สะดวกก็เยอะ อย่างโรงแรมที่เราพักนี้ก็มีออกซิเจนให้ใส่เวลานอนซึ่งทำให้หลับสนิทและปรับตัวได้เร็วขึ้น แนะนำว่าควรใช้ แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะจะร่นระยะเวลาในการฟื้นตัวได้เร็วมาก


ซินตูเฉียว 新都桥

หมอกยามเช้า จะเห็นคำสรรเสริญเป็นภาษาทิเบตสลักอยู่ เราได้เข้าสู่พื้นที่ปกครองตนเองทิเบตแล้ว

ตื่นเช้าวันแรก ปรับตัวได้แล้วเพราะสูดออกซิเจนนอน ก็ไปเก็บภาพบนเนินเขาเป็นภาพ 新都桥 เมืองซินตูเฉียว พระอาทิตย์จะขึ้นช้าเมื่ออยู่บนที่สูงแบบนี้จึงไม่ต้องรีบตื่นแต่มืด แถบนี้เป็นเมืองทางผ่านและดินแดนเขตนี้เป็นเขตที่จีนยังอนุรักษณ์เพื่อให้เป็นเขตธรรมชาติ บ้านเรือนแถวนี้สร้างในแบบทิเบต โดยรัฐเป็นผู้ช่วยออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง หากคนท้องถิ่นต้องการสร้างบ้านแบบดั่งเดิม เราจึงเห็นบ้านทรงแบบดั่งเดิมในชนบทอยู่ทั่วไป ถือเป็นความฉลาดของรัฐในการจูงใจ ให้คนรักษาเอกลักษณ์ความเป็นพื้นเมืองไว้

น้ำค้างจับตัวเป็นน้ำแข็งบนต้นไม้พุ่มที่เปลี่ยนเป็นสีแดงสด


Credit: Chan Srithaweeporn วิวจากมุมบน ด้านล่างเป็นเมืองเฉินตูเฉียว

บริเวณซินตูเฉียวอยู่บนความสูงระดับ 3,000เมตรจากน้ำทะเล สูงกว่าดอนอินทนนท์ (2,565เมตร) เช้านี้เดินลงมาทานข้าวเช้า เห็นเพื่อนร่วมทริปยืนอาเจียนอยู่หน้าห้องอาหาร สงสารคนที่ยังปรับตัวไม่ได้ สำหรับคนทั่วไป อาการมึนจากการแพ้ที่สูงจะเริ่มเมื่อถึงระดับ 3,000 เมตร แต่จะค่อยๆปรับตัวเองแต่ต้องใช้เวลา 2-3วัน และสำหรับคนที่แพ้ที่สูงอาการแพ้จะไม่หายไปจนกว่าจะลงที่ต่ำ แนะนำว่าไม่ว่าจะแพ้หรือไม่ ควรทานยาก่อนเข้าเขตที่สูง ซึ่งแพทย์แนะนำให้ทำ สัก 1-2วัน ก่อนเข้าพื้นที่ (อ่านเพิ่มเติมตอนท้ายเรื่องการเตรียมตัว)


วัดทากง 塔公寺庙 Tagong monastery

จากเมืองซินตูเฉียว เราไปเที่ยววัดทากง 塔公寺庙 Tagong monastery ซึ่งเป็นวัดธิเบตที่อยู่ใกล้เขา ศักดิ์สิทธิ์ ยาลาซือซัน (mount yala หรือ Yala Xueshan หรือในภาษาธิเบตเรียกว่า “Oriental White Yak” หุบเขาจามรีขาวแห่งบรูพา ชื่อแบบหนังยุทธจักรกำลังภายในมาก ไปค้นมาจากอินเตอร์เน็ต) ซึ่งเป็น 1ใน 4 เขาศักดิ์สิทธิ์ของทิเบต ยอดเขามีหิมะปกคลุมทั้งปีบนความสูง 5,820 เมตร เขายาลาซือซันเป็นแหล่งปีนเขาที่สำคัญของมลฑลเสฉวน โดยมีความสูงรองลงมาจากย่าติงเท่านั้น ทางเดินไต่ระดับไม่ยาก เหมาะสำหรับนักเดินเขาทุกระดับ แต่ด้วยอากาศที่เบาบางก็ถือเป็นเส้นทางที่น่าท้าทายเหมือนกัน ที่นี่อากาศจะเย็นตลอดปีโดยต่ำกว่า 0 องศา ระดับความสูงทั่วไปอยู่ที่ 4,216เมตร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญสำหรับคนที่ไม่ได้เทรคคือวัดทากง และทุ่งหญ้าทากงที่อยู่หน้าวัดซึ่งเป็นเนินหญ้า ตรงนี้ต้องจ่ายเงินค่าเข้า เหมาะกับผู้ที่รักการถ่ายภาพมาก ภาพที่ได้คือวัดและเขายาลาซือซันที่เป็นฉากหลัง

Tagong monastery
ภาพที่ได้จากตรงทุ่งหญ้า Credit Chan Srithaweeporn

ระหว่างทางไปวัดทากง สิ่งที่แปลกตามากคือทางน้ำที่ไหลลงมาจากเขายาลาซือซัน เป็นระยะทางกว่า10กิโลเมตร มีการวาดภาพและเขียนตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์บนหิน อารมณ์เหมือนพวกมือบอน วาดกราฟฟี่ตี้ graffiti เต็มทั้งหินน้อยหินใหญ่ ทั้งหน้าผาและน้ำตกกว่าพันชิ้นดูตระการตามาก ชาวทิเบตเชื่อว่า ลม น้ำ และเขา ล้วนศักดิ์สิทธิ์ จึงนิยมผูกธงหลากสีที่มีอักษรบทสวดต่างๆพิมพ์ไว้ เพื่อให้ลม ให้น้ำพัดพาเอามนต์ตราหรือพรต่างๆไปกับสายลม สายน้ำ ฉะนั้นยิ่งช่องลมแรงเท่าไหร่ก็ยิ่งดี และน้ำจะยิ่งแรงเท่าไหร่ก็ยิ่งดี มันจะทำให้พรได้แพร่ไปไกลยิ่งขึ้น


ไห่จื่อซาน-海子山

เมืองที่อยู่ใกล้ย่าติงที่สุดคือ เต้าเฉิน ซึ่งระหว่างทางเข้าเมืองผ่านเนินเขาสูงที่เป็นทางราบมีแต่หินก้อนกลมๆเหมือนหินในลำธารเป็นก้อนขนาดใหญ่มหึมา ไม่มีต้นไม้ขึ้น มีแต่ต้นไม้พุ่มหนาๆคลุมดิน แถบนี้เขาเรียกว่าเขาไห่จื่อซาน(ไห่จื่อซาน-海子山) เป็นเขตอนุรักษ์ มีแอ่งน้ำน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป เป็นแอ่งน้ำใสๆ บางแห่งเป็นสีฟ้า สะท้อนเงาของท้องฟ้าสวยมาก ตั้งใจดูดีๆแม้จะเป็นเวลาหลังเที่ยงวันแล้ว บนพื้นน้ำมีน้ำแข็งชั้นบางๆคลุมอยู่ และที่เป็นแอ่งตื้นๆก็เป็นน้ำแข็งไป แม้แดดจะแรงสุดๆ แต่ลมก็แรงและหนาวเย็นไม่แพ้กัน อันที่จริงพื้นที่ตรงบริเวณนี้เป็นทางผ่านของธารน้ำแข็งโบราณ จึงทำให้หินบริเวณนี้เป็นเช่นนี้ และที่เรียกว่าไห่จื่อ 海子 ซึ่งแปลตรงตัวว่า"ลูกทะเล" ก็เพราะว่าคนทิเบตโบราณไม่เคยเห็นทะเล เชาคิดว่าแอ่งน้ำขนาดใหญ่หรือทะเลสาบก็คือทะเล

ป่าสนุ่นที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดทั้งต้น มีให้เห็นแทบทุกที่ในเขตเต้าเฉิน-ย่าติง

ยิ่งใกล้ย่าติง พื้นที่ก็เริ่มสวยขึ้นเป็นลำดับ จากช่วงหุบเขาที่มีแต่หิน หุบเขาสองข้างทางเริ่มเห็นต้นไม้สีเหลืองสด (ต้นสนุ่น) เป็นทิวแถวบนสันเขาเป็นแทบๆ สวยสมบูรณ์แบบ เหมือนรูปในโปสการ์ดเลยทีเดียว การจะถ่ายรูปให้สวยที่นี่นั้นง่ายมาก แค่กดถ่ายก็สวย เพราะมันสวยสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว


ทุ่งหญ้าแดงแห่งซานตุย

เราแวะไปถ่ายรูปที่ทุ่งหญ้าแดงแห่งซานตุยก่อน ซานตุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดสวนไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายโดยเฉพาะ ซึ่งเอกลักษณ์ของมันคือ ทุ่งหญ้าที่เป็นสีแดง มีต้นสนุ่นสีเหลืองรายล้อมหนองน้ำที่เมื่อสะท้อนกับฟ้าแล้วเป็นสีน้ำเงิน สะท้อนขึ้นไปตัดกับต้นสนุ่นสีทองอีกทีเป็นภาพที่สวยงามราวภาพวาด เงาของเมฆที่พาดผ่านลงมาบนสันเขาให้ ทิวเขารอบๆนี้ดูลึกลับน่าค้นหา แม้วันที่เราไปจะเลยช่วงที่ต้นไม้สวยที่สุดไป เพราะปีนี้เย็นเร็วกว่าที่ผ่านมา ใบไม้ก็ร่วงไปเหลือแต่กิ่งแห้งๆ


Yading ย่าติง

ย่าติง แชงกรีล่าในตำนาน

Yading ย่าติง ก็คือแชงกรีล่าในตำนาน Shangri la 香格里拉 แชงกรีล่าที่ไปเที่ยวกันในปัจจุบันนี้คือ แผ่นดินภาคกลางของจีน ด้วยสมัยก่อนการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้การไปที่ย่าติงนั้นลึกลับลำบากมาก (แชงกรีล่าก็ต้องเข้าถึงลำบากซิเพราะมันคือเมืองลับแล ถ้าใครๆไปถึงกันหมด มันจะลับแลได้ไงคิดดู) ทำให้คนไปกันไม่ถึง แล้วเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยจึงสร้างจุดท่องเที่ยว เรียกแผ่นดินภาคกลางที่มีความอุดมสมบูรณ์ สวยงามและสะดวกต่อการเข้าถึงว่า เซียงเก๋อหลี่ลา(แชงกรีล่า 香格里拉) ซึ่งก็คือที่ที่เขาไปเที่ยวกันนั้นล่ะแทน คนก็แห่ไปเที่ยวเซียงเก๋อหลี่ลานั้นกัน ส่วนย่าติงปัจจุปันคนจีนจะยกให้เป็นแดนสุขาวดีสุดท้ายบนโลก (Last Sanctuary on Earth) และถูกจัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเส้นทางเข้าถึงยากต้องนั่งรถหลายวัน คนแก่ เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ก็ห้ามไปเที่ยวที่นี่

ภาพทะเลสาบ 7สี : ย่าติง แชงกรีล่าในตำนาน

ย่าติงถูกค้นพบจากผู้คนภายนอกโดยนักผจญภัย/พฤกษศาสตร์ชาวอเมริกา ศาสราจารย์ โจเสพ ร็อค Dr. Joseph Rock ในปี 1928 เขาออกเดินทางออกจากเมืองลี่เจียง เข้าสู่มณฑลเสฉวน ผ่านเมืองมู่หลี่ และค้นพบเย่าติงโดยบังเอิญ หลังจากที่กลับออกไป เขานำภาพและเรื่องราวถ่ายตีพิมลงใน นิตยสาร Nation Geographic ฉบับกรกฎาคม ค.ศ. 1931 ซึ่งตีพิมพ์กว่า 60 หน้า ทำให้ชาวโลกตื่นเต้นกับการมีอยู่ของสถานที่แห่งนี้ แต่จีนเพิ่งให้ย่าติงขึ้นเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ในช่วงยุค 1990 นี้เอง อันที่จริงพื้นที่หลายแห่งในเขตเทือกเขาหิมาลัยได้ซื่อว่าเป็น แชงกรีล่า เพราะนักเขียนอเมริกัน James Hilton ได้เขียนถึงพื้นที่เหล่านี้ในนวนิยายอันโด่งดัง ชื่อ “Lost Horizon” ซึ่งตีพิมพ์ในปี1933 หลังการค้นพบของ Dr. Joseph Rock ชาวโลกเล่าขานถึงภาพของต้นสนุ่นสีเหลืองที่สวยงามเหนือคำบรรยาย ฝูงจามารีเดินเล็มหญ้าอยู่ตามไหล่เขา ตาน้ำสีสันแปลกตาท่ามกลางหุบเขาหิมะที่รายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าสีแดง ทิวทัศน์ที่ไม่น่าจะมีอยู่จริงบนโลก มันคือ สวนอีเดนในความฝัน "Eden in Dream" ตามที่เขียนไว้ในหนังสือ

ระหว่างทางขึ้นไปนั่งรถกอลฟ์เพื่อไปที่ทะเลสาบน้ำนม

ชุดเดินเขาแบบจัดเต็มของชาวจีน

จุดสำคัญในย่าติงซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 亚丁国家级自然保护区 Yading National Reserve Park มี 3 จุด ทะเลสาบน้ำนม 牛奶海 ทะเลสาบ5สี 五色海 และทะเลสาบไข่มุก 珍珠海 การเดินทางนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกเราเลือกที่ไกลที่สุดและเดินยากที่สุดก่อน คือทะเลสาบน้ำนมและทะเลสาบ5สี ระยะทางขึ้นเขารวมระยะทางบนสะพานไม้และนั่งรถกลอฟ์เข้าพื้นที่ รวม 13กิโลเมตร วันที่ 2 คือเดินระยะสั้น 2 กิโลเมตรเพื่อไปทะเลสาบไข่มุก ในวันแรกมีกำหนดว่าต้องลงมาให้ทัน 6โมงครึ่งซึ่งคือเวลารถเที่ยวสุดท้ายที่ออกจากอุทยานได้ ไม่งั้นต้องเดินเท้ากว่า 10กิโลเมตรถึงจะถึงหมู่บ้านที่เราค้างแรม หากเลือกขึ้นไปทางทะเลสาบน้ำนม มีรถกอลฟ์ให้นั่งระยะทาง 8กิโลข้ามไหล่เขา ถ้าไม่นั่งรถจะเดินเล่นระยะทางนี้ 8 กิโลเมตรนี้ เป็นทางเดินไม้ไล่เลาะตามลำธารในหุบเขาก็สวยมากน่าถ่ายรูป และควรให้เวลาเพิ่มอีก 2-3 ชั่วโมงเพื่อเดินลงเขาช่วงนี้ แต่ให้นั่งรถไปถึงสะพานไม้และไล่เดินขาลงจะดีกว่า เพราะถ้าเดินขาขึ้นน่าจะต้องเพิ่มเวลาอีก2เท่าตัว และคาดว่าไม่สามารถทำในวันเดียวกับทะเลสาบน้ำนมได้ ถ้าจะเก็บตรงนี้ต้องเพิ่มวันที่อยู่ในย่าติงอีกหนึ่งวัน

ซึ่งส่วนตัวคิดว่าถ้าได้กลับไปอีกจะเพิ่มเวลาอีกวันเพื่อเดินเก็บบริเวณนี้แบบขิวๆ

ย่าติง แชงกรีล่าในตำนาน

สำหรับชาวทิเบต ย่าติงนั้น มีภูเขาหิมะ 3 พระโพธิสัตว์ ที่ชาวทิเบตนับถืออย่างสูง ได้แก่ ยอดเขาเซียนหน่ายยื่อ 仙乃日 (พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา) ยอดเขาเซี่ยโยโตเจีย 夏纳多吉 (เทวดาผู้สูงส่ง) ยอดเขายานม่ายหยง 央迈勇 (องค์ทิพย์เทพพิทักษ์) โดยทั้งสามยอดเขานี้มีความสูงเทียมกันราว 6,000เมตร และ3 ทะเลสาบศักดิ์สิทธ์ของชาวทิเบต ได้แก่ทะเลสาบไข่มุก ทะเลสาบ5สี และทะเลสาบน้ำนม ที่กล่าวไว้เบื้องต้น สำหรับชาวทิเบตจะเดินทางมาที่นี่เพื่อสักการะ ย่าติงจึงถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก การจะทิ้งขยะหรือไปขับถ่ายตามพุ่มไม้ตามทางจึงถือเป็นการลบหลู่ต่อสิ่งศักดิ์

การเดินไปทะเลสาบน้ำนม เหมือนวันสอบไล่ เราได้เตรียมตัวไว้นานแล้วตั้งแต่วันที่ตัดสินใจมาหลายเดือนก่อน ใบเตรียมตัวบอกว่าต้องเดินทั้งวัน จึงฝึกเดินขึ้นไต่ระดับบนเครื่องในฟิตเนสวันละ10-20นาที กระโดดลัง 50ครั้ง ต่อยมวยเพื่อเพิ่มความอึดครั้งละชั่วโมง สัปดาห์ละ3ครั้ง ทั้งหมดเพื่อเพิ่มพลังครึ่งท่อนล่างและความอึดในการเดินโดยไม่ต้องหยุดนั่งพัก บนความสูง 4,300เมตร อันที่จริงเพื่อนๆจะรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่เกลียดการออกกำลังกายที่สุด ที่เริ่มออกกำลังกายก็เพราะการเดินทางนี้หล่ะ (ตามอ่านเรื่องนี้ที่ ไบคาล)

ทางเดินช่วงหลังจุดกึงกลางไปแล้ว สังเกตุว่าทางดีมาก ทุกคนเดินเป็นระเบียบ

การเดินเขานี้คือการสู้กับตัวเอง หลายครั้งที่อยากหันกลับ มีเหตุผลร้อยแปดในหัวว่าทำไมไม่ไปต่อ สุดท้ายเพื่อนร่วมทางคนเดียวที่เหลืออยู่กับเราคือตัวเรา คนที่เดินมาพร้อมๆกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ก็ต้องคลาดกัน เพราะแรงไม่เท่ากัน คลาดกับเพื่อนระหว่างทางก็เจอเพื่อนที่เริ่มเดินมาด้วยกันแต่หยุดพักเลยได้เจอกันใหม่ ก็เกาะกลุ่มใหม่ แต่แรงก็ไม่เท่ากันอีก ก็คลาดกันตอนที่เราเดินช้า หรือตอนที่เราไม่พักกัดฟันเดินต่อเหมือนกระต่ายไขลาน ถือคติว่าการเดินทางพันลี้ เริ่มที่ก้าวนี้ เพื่อนที่หยุดพักก็ทิ้งห่างออกไป แม้เมื่อมีเพื่อนก็ไม่ได้เดินคุยเพราะเดินคุยจะต้องใช้ออกซิเจนมาก ก็งดไป แนะนำว่างดฟังเพลง เพราะเวลาเดินทางต้องยินเสียงตามทางจะได้รู้ตัวว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างเพื่อความปลอดภัย และควรประหยัดแบตไว้ อากาศเย็นแบตจะหมดไวกว่าปกติ 20-30% เผื่อเวลาจะถ่ายรูปไม่มีแบตจะเสียดายมาก

จำนวนคนที่เดินขึ้นเป็นกองทัพ แต่ไม่ชนกัน ทุกคนจะเดิน 10-20ก้าวหยุดที เพราะออกซิเจนที่บางมาก

การอยู่กับตนเองจะครอบง่ำเวลาส่วนใหญ่ในการเดิน ที่เหลือคือความล้า ดวามเจ็บปวดตามร่างกาย ความหิว ความกระหาย ความเหนื่อย และสุดท้ายเป็นความคิดเชิงลบที่จะสร้างข้ออ้างต่างๆไม่ให้เราเดินต่อ เราไม่รู้ว่าทางข้างหน้าเป็นอย่างไร มีสะพานไม้ขว้าง มีลำธารขว้าง มีพื้นที่ชุ่มน้ำขว้างไหม คุ้มไหมที่จะเดินต่อ วิวจะสวยไปกว่าสักแค่ไหนหนอ เหล่านี้จะกัดกร่อนความมุ่งมั่นของเรา ถ้าต้องหันกลับเรารู้ดี เพราะเราเดินข้ามมันมา เป็นสิ่งที่คุ้นเคย เราจะอยากทำมากกว่า ทำได้ดีกว่า หันกลับง่ายกว่า ทางข้างหน้าคือสิ่งที่ไม่รู้ ไม่คุ้นเคย สำหรับตัวเรา หลายๆคนจะหันกลับ จะได้ยินคนพูดกันว่า"อีกไกล ไปกลับไม่ทันหรอก" "สวยแต่ไม่คุ้มเดิน" "ไม่ไหวแล้ว หายใจไม่ออก ตาพร่า"ฯลฯ

จุดทางแยกเดินขึ้นทางชันนี้ไปเป็นทะเลสาบ5สี เดินตรงข้างหน้าไปเป็นทะเลสาบน้ำนม ไม่ว่าเลือกทางไหน เมื่อถึงทะเลสาบแล้วมีทางเดินถึงกันได้อีก

ด้วยเวลาที่จำกัด โดยมีกำหนดเวลาไว้ว่า เมื่อเวลาถึงบ่าย 3 ไม่ว่าอยู่ที่ใดต้องหันหลังกลับ เดินมาถึงจุดทางแยกไป ทะเลน้ำนม หรือทะเลสาบ5สี ก็บ่ายโมงกว่าแล้ว แม้ทางมาทะเลสาบน้ำนมจะอีกเพียง 1กิโลกว่า เรานึกถึงคำของนักเขียนคนโปรด “The way up to the top of the mountain is always longer than you think. Don’t fool yourself, the moment will arrive when what seemed so near is still very far.” — Paulo Coelho นั่นละคือความรู้สึกของ 500 เมตรสุดท้าย

มองดูเวลาตลอดว่าเหลือเวลาเท่าไหร่ ในช่วง 500เมตรนี้ พยายามเดินให้เร็วที่สุดเท่าที่สังขารเราไหว ตั้งใจแน่วแน่ว่าเราอยากไปให้เห็นกับตาตัวเองว่าทะเลสาบน้ำนมจะสวยถึงขั้นไหน ความคิดนนี้ส่งให้เราเดินไปถึงทะเลสาบน้ำนมทันในเวลา บ่าย2โมง45นาที และภาพที่เห็นคือตะลึงงันกับความสวยของสีทะเลสาบที่ให้ 10เต็มไปเลย

สาวจีนจัดเต็ม ถ่ายรูปข้างทะเลสาบ แต่มาในชุดสไตล์ไซบีเรีย ผิดเผ่าไปหน่อย

เมื่อถึงทะเลสาบน้ำนม ต้องตะลึงกับสีของน้ำในทะเลสาบที่เป็นสีฟ้าใสเป็นเฉดสวยเกินคำบรรยาย แสงที่ต้องบนพื้นทะเลสาบทำให้น้ำดูระยิบระยับ น้ำไล่เฉดสีตรงขอบไปถึงตรงกลางดูเป็นภาพที่เหนือจริง (ถ้าให้เทียบทะเลสาบน้ำนมกับทะเลสาบพันกองที่เลห์ ที่นี้กินขาด) อยากหยุดเวลาไว้ตรงนั้นจัง เพราะเหลืออีกแค่ 15นาที ความเหนื่อยทั้งหมดหายเป็นปลิดทิ้ง ตื่นเต้นมากเพราะเหลือเวลาแค่ 15 นาทีในการเก็บภาพรอบทะเลสาบ อยากมีเวลาเหลือสักชั่วโมงจะได้เก็บทุกมุม แอบดีใจที่ไม่ได้แบกขาตั้งกล้องมาเพราะไม่มีเวลากางถ่ายแน่นอน พื้นรอบๆเป็นหลุมและเป็นที่ชุ่มน้ำหลายจุด เดินยากหน่อย อยากเดินขึ้นเขาไปทางทะเลสาบ 5 สีเพื่อถ่ายลงมา ก็ไม่มีเวลา (อยากร้องไห้ เราออกเดินช้าเช้านี้เพราะมีคนลืมของ กว่าจะขึ้นมาถึงจุดปล่อยตัว จึงได้ออกเดินเกือบ 10โมง ถ้าทำได้จะสลับวันไปที่ทะเลสาบ 7สีก่อน และอีกวันออกมาเดินที่นี้แต่เช้า) สำหรับเพื่อนๆที่ได้ขึ้นไปทะเลสาบ5สีจากจุดนี้เล่าว่าทะเลสาบ 5 สีไม่สวย แต่วิวที่มองลงมาที่ทะเลสาบน้ำนมมันสวยมาก (อันนี้ต้องขอกลับไปแก้มือใหม่ในรอบหน้า)

การเดินกลับไวกว่าและผ่อนคลายกว่าทางขึ้นหลายเท่า แต่การไล่เก็บภาพขากลับไม่สวยเท่า แสงมันคนละอย่างกับตอนออกเดินช่วงเช้าเลย เพราะเป็นคนละทิศ ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำที่ว่าให้รีบเดินขึ้นไม่ต้องหยุดถ่ายรูประหว่างทางขาขึ้น เชื่อเถอะถ้าเห็นว่ามันงามแล้วหยุดถ่ายเลย แสงมันไม่เหมือนกันทั้งวัน วันนั้นเราเดินกลับลงเขาทันเวลาขึ้นรถเที่ยวสุดท้ายพอดี


วันที่สองออกแต่เช้าเพื่อไปทะเลสาบไข่มุก 珍珠海 บริเวณทางไปทะเลาสาบ มีวัดทิเบตที่มีพระลามะจำวัดอยู่ แนะนำว่าควรแวะ แม้ด้านในเรียบง่ายมาก เหมือนวัดทิเบต และไม่อนุญาติให้ถ่ายรูป แต่รอบบริเวณวัดนี้สวย ประดับด้วยธงมากมาย

วันนี้ไม่ต้องใช้ไม้เท้าหรือรองเท้าเดินเขา มีทางเดินเป็นตะแกรงเหล็กที่พาดข้ามสันเขาตลอดทาง เดินง่ายแต่ก็เป็นการเดินไต่ขึ้นเช่นกัน ในอากาศที่บางเบา สูงกว่าระดับน้ำทะเล 4,100เมตร ระยะทางแม้เพียง 2 กิโลเมตร ก็เอาเรื่องอยู่ ผ่านวันแรกที่โหดมาแล้ว วันนี้เลยถือว่าเดินสบาย ถ่ายภาพวิวได้ตลอดทางเพราะเราเดินท่ามกลางต้นสนุนสีเหลืองทอง วันนี้เก็บภาพคู่กับต้นไม้ได้หลายจุด โดยมีภูเขาหิมะเป็นฉากหลัง

ซุ้มธงมันตราที่เอาไว้สักการะเขาศักดื์สิทธิ์ทั้งสาม ซึ่งอยู่บริเวณทางเข้าทะเลสาบไข่มุก เป็นภาพที่ชอบที่สุดในทริปนี้

ก่อนถึงทะเลสาบไข่มุกจะผ่านซุ้มแบบทิเบตที่ติดธงสวยมากอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกติดกับทางเข้าทะเลสาบไข่มุก ซึ่งถ้าเราเอาธงมาจะติดตรงนี้ได้ (ถ้าอยากติดควรหาซื้อมาแต่เนิ่นๆ ข้างบนนี้ไม่มีขาย และที่ถนนร้านค้าก่อนเข้าอุทยานตั้งแต่ด้านล่างเลยก็ไม่มีขาย) แห่งที่สองอยู่ตรงหน้าเราตอนเดินออกซึงเป็นจุดที่ชอบที่สุดในทริปนี้ (ดูภาพบน) เป็นซุ้มธงที่อยู่ด้านหน้าภูเขาศักด์สิทธิ์

ส่วนทะเลสาบไข่มุกนั้นเป็นภาพที่เราเห็นเป็นภาพโปสการ์ดของย่าติงซึ่งมีน้ำสีเขียวและป่าสนุ่นสีเหลืองตัดสะท้อนบนพื้นน้ำโดยมีภูเขาที่มีหิมะปกคลุมเป็นฉากหลัง งามดั่งภาพวาดเลยทีเดียว พูดตรงๆว่าถ้าไปทะเลสาบ 5 สีไม่ไหว ขอให้ได้เดินมาทะเลสาบนี้ก็พอ ได้ชักภาพหนึ่งตรงนี้ถือว่าถึงแล้ว


長青春科爾寺

Ganden Thubchen Choekhorling Monastery

วัดศักดิ์สิทธิ์ Ganden Thubchen Choekhorling Monastery長青春科爾寺

ในเมื่อเดินทางมาแถบนี้แล้ว ต้องไปนมัสการพระที่วัดใหญ่ในเมืองลีทัง วัดทิเบต Ganden Thubchen Choekhorling Monastery長青春科爾寺 วัดนี้มีประวัติยาวนานถึง 500ปี และมีความสำคัญรองลงมาก็แต่ 3 วัดใหญ่ในลาซ่า ทิเบต เท่านั้น ดาไลลามะที่ 3 เป็นผู้ก่อตั้งวัดนี้ และการพยากรณ์การเกิดของดาไลลามะที่ 7 และ 10 ก็เกิดขึ้นที่นี้เช่นเดียวกัน ปัจจุปันมีพระลามะกว่า 2,000รูปบวชเรียนอยู่ และงานบูชาเทพแห่งขุนเขาก็ได้จัดที่นี้เป็นประเพณีมานานต่อเนื่องถึง 300ปีแล้ว นับแต่วันถือกำเนิดขององค์ดาไลลามะที่ 7 ถือว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์มาก

ภายในวัดมีประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่สวยงามมาก สำหรับชาวทิเบต การได้มากราบไหว้ครั้งหนึ่งถือเป็นบุญอย่างมากสำหรับชาวพุทธทิเบต แม้จะเป็นคนละนิกายก็ตาม ส่วนตัวพบว่าสิ่งปลูกสร้างเพื่อศาสนาเป็นสิ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเสมอ เพราะความเชื่อคือตัวค้ำชูสังคม แม้ปัจจุปันมนุษณ์มีความศรัธทาทางศาสนาน้อยลงก็ตาม แต่เรายังคงเชื่อมั่นในบางสิ่ง เช่นวิทยาศาสตร์ ดารา กูรู ความเชื่อเหล่านี้ก่อให้เกิดวัฒนธรรม และวัฒนธรรมนั้นถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของสิ่งของ สิ่งปลูกสร้างและการนุ่งห่ม สำหรับนักเดินทางแล้ว การสังเกตและศึกษาวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่น่าเพลิดเพลินเสมอ

หุบเขาระหว่างทางมักมีธงทิเบตแขวนไว้เพื่อขอพร ขอสายลมนำพาแต่สิ่งที่ดีไปทุกหนทุกแห่ง

อุทยานมูเกอคู 木格措

ที่สุดท้ายในทริปนี้คือ อุทยานมูเกอคู 木格措 เมืองคังติ้ง 康定 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองทิเบตกานจือเช่นกัน ทีแรกไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะไปย่าติงที่เป็นไฮไลท์ของทริปมาแล้ว แต่พอได้เห็นทะเลสาบเจ็ดสี 七色海 ในมุมสูงตอนที่นั่งรถอุทยานขึ้นไป ภาพของหมอกบางๆปกคลุมบนพื้นทะเลสาบนั้น สวยเหมือนภาพวาดสีหมึกของจีนเลยทีเดียว เสียดายที่ทางอุทยานบังคับการเดินรถเป็นขับขึ้นไปจุดบนที่สุดก่อนแล้วให้นักท่องเที่ยวทยอยเที่ยวไล่กลับ จะเดินเท้าหรือกลับมานั่งรถใหม่ก็ได้ เราจึงกลับลงมาที่ทะเลสาบ7สีไม่ทันหมอกยามเช้า เลยได้รูปยามสายที่ไม่มีหมอกแล้ว

อุทยานมูเกอคู 木格措 Mugecuo เป็นอุทยานระดับ AAAA (สูงสุด5A) โดยมีจุดแวะจอด 5 จุด (ขอเน้นว่าเดินไม่ได้ ข้างในไม่มีที่ค้างแรม เดินกันจริงต้องกินเวลาเป็นวันขึ้น) และแบ่งสถานที่เที่ยวออกเป็น 13จุด จุดที่อยู่สูงที่สุดคือ เย่เยินไห่ (ทะเลคนป่า) ซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่บนความสูง 3,700เมตร สามารถนั่งเรือไปชมทุ่งหญ้าแดงจากตรงนั้นได้ แต่เรามาช้าไปหน่อยทุ่งหญ้าโรยไปหมดแล้วจึงไม่ได้นั่งเรือไปชม อย่างไรก็ดีป่าสนุ่นแถบนี้ เหมาะกับการถ่ายรูปคู่มาก ด้วยแสงและความหนาแน่นของต้นไม้ริมทะเลสาบประกอบกับทางเดินไม้ที่สร้างไว้ เพื่อเป็นบรรยกาศ จัดถ่ายคู่กับต้นไม้ได้ทุกจุดตั้งแต่ริมน้ำไปถึงข้างถังขยะไม้

เอกลักษณ์ของมูเกอคูอีกแห่งคือหินที่มีหญ้ามอสสีแดงปกคลุม ซึ่งพืชนี้จะขึ้นในภูมิประเทศที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000เมตรขึ้นไป ตรงบริเวณนี้มีทางน้ำเป็นน้ำตกเรียบตลอดทาง น้ำค่อนข้างแรงมากและมีป่าสนุ่นไล่เป็นช่วงๆ เป็นภูมิประเทศที่สวยมาก ไล่ลงจากจุดนี้คือทะเลสาบ 7 สี ซึ่งที่มีหมอกควันปกคลุมช่วงเช้าและพลบค่ำ ด้วยความที่อุณหภูมิของน้ำค่อนข้างสูงเพราะเป็นน้ำที่มาจากน้ำพุร้อน

น้ำในทะเลสาบนี้มีอณุหภูมิสูงถึง 67องศา ซึ่งไหลมาจากบริเวณน้ำพุร้อนที่อยู่เยืองไปด้านบน เป็นแหล่งน้ำพุที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค แต่ทริปนี้เราไม่ได้มาแช่น้ำพุร้อน จึงไม่ได้แวะไปแช่เท้า ชิมไข่ออนเซนกัน

stupa
หินที่นำมาวางเรียงเป็นรูปคล้ายสถูป ความเชื่อการนำหินมาวางซ้อนหมายถึงการขจัดอุปสรรคออกไปจากชีวิต ให้มีชีวิตที่ราบรื่น

ที่หน้าทะเลสาบมีกองหินขนาดใหญ่วางอยู่ ชาวทิเบตมีความเชื่อเรื่องการกองหินว่า การนำหินมาวางซ้อนหมายถึงการขจัดหิน(=อุปสรรค)ออกไปจากทาง เมื่อเอาออกจากทางเดิน จะไปทิ้งไว้ข้างทางเฉยๆก็ไม่งาม จึงมีการวางซ้อนขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ความเชื่อเรื่องหินนี้ต่างไป ในพุทธนิกายอื่นในแถบอินเดีย จีนและญี่ปุน เขาเชื่อว่าการซ้อนกันของหิน เปรียบเหมือน ความสมดุล ของศีล สมาธิ เเละปัญญา ซึ่งหินจะตั้งมั่นอยู่ไม่ได้เลยหากขาดหลักธรรมไตรสิกข้อนี้ จึงมีการเรียงหินเพื่อเป็นสัญญาลักษณ์ของความสมดุล ส่วนความเชื่อในญี่ปุ่นกลับเกี่ยวกับการไถ่บาป เชื่อว่าถ้าเรียงหินรูปเจดีย์จะไถ่บาปได้


พระลามะนิกายหมวกเหลืองที่วัดลิทัง

การเดินทางครั้งนี้ ทำให้เห็นจีนที่แตกต่างจากที่เคยเห็น การเดินทางในแถบนี้นอกจากห้องน้ำและอาหารที่ไม่ถูกปากเท่าไหร่ อันที่จริงโรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆถือว่าดีมากมายหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีภูมิประเทศเช่นนี้ ที่ได้เคยไปเยือนมา เช่น ภูฐาน ปากีสถาน เลห์ ทั้งสัญญานโทรศัพท์ ไฟฟ้า น้ำประปา การเก็บขยะและการดูแล เห็นได้ชัดว่ารัฐไม่ได้ห่างเหินแม้พื้นที่จะอยู่ไกล และนักท่องเที่ยวจีนที่เจอตามสถานที่เที่ยวต่างๆในเขตนี้ ก็ต่างไปจากที่รับรู้มา คนที่มาเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุน้อย (เนื่องจากอากาศที่เบาบางที่จำกัดให้คนหนุ่มสาวเท่านั้นที่จะเข้ามาพื้นที่นี้) คนจีนรุ่นใหม่เขาต่างจากเดิม เป็นคนที่มีมารยาทและมีน้ำใจ ไม่เดินเบียด ไม่บ่นว่าเวลาเจอคนเดินๆหยุดๆ เขาก็แค่เดินข้ามผ่านเราไป เหมือนเข้าใจจังหวะใครจังหวะมัน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เป็นทางลงมีทางน้ำไหลบางๆบนพื้น ซึ่งบ้างส่วนลื่น ทำให้เราเดินช้า ก็มีคนที่เดินผ่านมาด้านหลังมาช่วยจูง บางช่วงหินสูงเราเดินลงไม่ได้ก็มีคนยืนมือมาให้ทั้งที่ไม่รู้จักและไม่ได้ร้องขอ ในระหว่างทางที่เดินเขาเวลามีคนทำของตก คนที่เก็บได้จะตะโกนบอก และคนที่อยู่รอบข้างก็จะช่วยบอกต่อๆกัน ถ้าเจอเจ้าของก็มีการบอกต่อๆกันกลับมา และช่วยส่งของต่อๆกัน ถือว่าน่ารักทีเดียว เพราะการขยับตัวเป็นไปได้อย่างลำบากในสถาณการณ์เช่นนั้น ทุกคนยังช่วยเก็บขยะและสิ่งสกปรกไม่ให้เหลือในเขา เพื่อรักษาให้ธรรมชาติสวยงาม อันนี้ก็ต้องชมทั้งคนมาเที่ยวและอุทยานที่เตรียมถังขยะไว้หลายจุดและส่งพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นซึ่งคุ้นเคยกับอากาศที่เบาบางไปเก็บขยะ จ้างงานสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น

นอกจากธรรมชาติที่สวยมาก ประทับใจกับผู้คนที่มาเที่ยว ยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้ถ่ายรูปเต็มอิ่มเท่าไหร่ มั่วแต่กังวลกับความกดอากาศ คิดว่าจะเทรนร่างกายต่อไปแล้วกลับไปใหม่พร้อมกับเพื่อนๆที่ยังอยากแก้มือและเพื่อนที่เพิ่งเห็นรูปแล้วว้าวอีก แต่ขอเวลาอี 2-3ปีก่อน ขอแวะที่อื่นที่ยังไม่ได้ไปก่อน

 

การเตรียมตัว

Yading, Sichuan, China

การเดินทางต้องมีการเตรียมตัวเสมอ

การเตรียมตัวขึ้นที่ราบสูง (High Altitude)


โดยทั่วไปให้กินยา Diamox 250mg ซึ่งเป็นยารักษาต้อหิน ยานี้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ สามารถลดความดันตา ซึ่งทางการแพทย์พบว่าสามารถช่วยร่นระยะเวลาในการปรับตัวเมื่อขึ้นที่สูงได้ เมื่อกินยานี้เข้าไปจะทำให้ร่างกายหายใจเร็วขึ้น เพราะยาทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดมากขึ้น ร่างกายหายใจเร็วขึ้นเพื่อขับกรดออกไป ในพื้นที่ระดับ 3,000เมตรขึ้นไป กินวันละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้าหรือเย็น 4,000เมตรขึ้นไป กินวันละ 2 เม็ด เช้าเย็นหลังอาหาร อาจมีอาการปลายนิ้วมือเท้าชา ปัสสาวะบ่อยขึ้น การรับรสแปลกไป โดยเวลาดื่มน้ำอัดลมจะรู้สึกแปร่งๆ แต่จะค่อยๆหายไปเอง อาจมีอาการนอนไม่หลับ ถ้าเป็นเช่นนั้นให้เปลี่ยนไปกินยาช่วงเช้า หรือทิ้งช่วงให้มากหน่อยทานก่อนนอน หยุดทานยาได้ถ้าปรับตัวได้แล้ว


อาการแพ้ยามีผื่นขึ้น เป็นลมพิษ หรือ/และแน่นหน้าอก ให้หยุดยาทันที สำหรัยคนที่มีโรคปอด โรคหัวใจ และโรคไต ไม่สามารถรับยานี้ได้ และไม่แนะนำให้เดินทางไปที่ราบสูงด้วย นอกจากยานี้แล้วมียาสมุนไพร เช่นหงจิ้งเทียน 红景天 ซึ่งเป็นยาสมุนไหรจีน 红景天口服液 แบบน้ำบรรจุขวดเล็กๆ ขายยกแผง แผงละ 10ขวด ให้กินวันละ 2 เวลา หงจิ้งเทียนสกัดจากพืชที่ขึ้นในภูเขาสูง เรียกกันตามทางถิ่นว่าโสมภูเขา มีสรรพคุณเยอะมาก (ตามภาษาสมุนไพรจีน) ทริปนี้กินคู่กับยาเลย เลยไม่รู้ว่าได้ผลไหมถ้ากินเดี่ยวๆ รสชาติที่เป็นขวดเล็กๆจะหวานเพราะมีน้ำผึ้งผสม ทานไม่ยาก


อาการแพ้ที่สูง High Altitude Sickness หรือ Acute Mountain Sickness (AMS) สำหรับคนที่แพัจะแสดงอาการเมื่ออยู่บนที่สูงเกินระดับน้ำทะเล 3,000 เมตรขึ้นไป เป็นอาการที่เกิดได้กับทุกคน แต่คนที่มีโรคหัวใจ ความดัน หอบหืด ควรหลีกเลี่ยง ผู้แพ้จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก นอนไม่หลับ โดยมากจะหายได้เองใน 1-3วัน เพราะร่างกายเริ่มปรับตัวได้ แต่ถ้าอาการหนักขึ้น ตาพร่า ต้องส่งสถานพยาบาลทันที เพื่อพบแพทย์และให้ออกซิเจน ซึ่งสถานพยาบาลในพื้นที่สูงจะมีประสบการณ์รักษา AMS ทุกที่ ไม่ต้องเลือกว่าจะต้องเข้าโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือขับรถลงที่ต่ำกว่า 3,000เมตร ยื่งลงที่ราบได้ยิ่งดีก็จะค่อยๆดีขึ้นเอง

ข้อแนะนำเมื่อไปถึง

ต้องจิบน้ำตลอดเวลา และอย่ากังวลเรื่องห้องน้ำ เพราะมีให้เข้าแน่นอน แต่สภาพแย่มากที่สุดเท่าที่เคยเจอ (ห้องเป็นคอกๆ ไม่มีประตูปิด ไม่มีชักโคก ไม่มีน้ำราด ถ้าห้องน้ำนั้นยังมีคนดูแล เขาจะเอาน้ำมาราดเป็นช่วงๆแต่ไม่ใช่ทุกตรั้งที่มีคนเข้า มีจุดที่เราไปเข้าห้องน้ำจุดหนึ่งเห็นเขาเอาถังน้ำมารอราด แต่เป็นน้ำแข็งหนาๆเกาะอยู่ ก็เข้าใจนะน้ำหายาก อากาศก็หนาว) เทคนิคส่วนตัวในการเข้าห้องน้ำคือโยนกระดาษทับไป เวลาเราทำธุระจะได้ไม่กระเด็นมาโดนเรา แนะนำนั่งหันหน้าออกจะได้เห็นคนที่เข้ามา เอาจริงมันไม่โป้เท่าไหร่ เพราะเสื้อข้างหน้าจะยาวมาปิด มองไม่เห็น ถ้ามีเพื่อนไปเข้าด้วยให้เฝ้าประตูไว้ก็ช่วยได้เยอะ ข้อดีคือถ้าเราผ่านมันไปได้ เราไปไหนก็ได้แล้วในโลก (ก็มันที่สุดแล้ว) คือถ้าทำใจเรื่องห้องน้ำไม่ได้อย่าไปเลย มีอีกเรื่องสำหรับคนที่คิดว่าจะไปยิงกระต่ายกันตามก้อนหิน หลังต้นไม้ ก็อย่าคิดเลย เพราะชาวพื้นเมืองในเขตปกครองตนเองซึ่งก็คือชาวธิเบตเขาถือว่าหิน และภูเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ การไปขับถ่ายในที่เหล่านั้นเขาถือ

ห้องน้ำสาธารณะ

เนื่องจากในเขตที่ราบสูงอากาศจะเบาบาง ยิ่งสูงยิ่งบางออกซิเจนน้อย ควรมีการเดินเคลื่อนไหวบ่อยๆ ลุก เดิน นั่งช้าๆ มีสติตลอดเวลา อย่านอนตลอดเวลา ถ้าง่วงในขณะที่ไม่ควรง่วงแสดงว่าเราเริ่มขาดออกซิเจนให้ดื่มน้ำ น้ำจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้กระฉับกระเฉง จะช่วยให้ปรับตัวได้เร็วขึ้น ออกซิเจนกระป๋องเป็นตัวช่วยที่ดี (หลายคนเคยบอกว่าไม่เวริกค์เอาไว้ใช้เล่นๆ แต่เทคโนโลยีสมัยนี้ดีขึ้นมาก ออกซิเจนกระป๋องที่ขายกันที่นี้คุณภาพค่อนข้างดีเลย ช่วยให้เราได้รับอิอกซิเจนมากขึ้นจริง) ที่สำคัญอย่าหมกตัวอยู่แต่ในรถ ให้ออกไปสูดอากาศเพื่อรับออกซิเจนเพิ่มเติมด้วย และอย่าปล่อยให้ร่างกายขาดความอบอุ่นจะทำให้ป่วยง่าย


คนทั่วไปที่นี้จะยังแต่งตัวแบบพื้นเมือง

พูดถึงการเตรียมตัว ต้องพูดเกี่ยวกับอาหาร อาหารเป็นไฮไลท์สำหรับการเที่ยวก็ว่าได้ อาหารในเส้นทางนี้ก็ยอดไม่แพ้กัน คือยอดแย่ คนที่มาเที่ยวต้องเตรียมใจอย่างแรงกับอาหารจีนที่จืดชืดไม่เหมือนอาหารจีนที่เรารู้จัก มีแต่ถั่วฝักยาวผัดในรูปแบบต่างๆ ตัดเป็นแว่น ตัดเป็นเส้นเฉียงตัดตามยาว(เน้นที่รูปแบบ แต่รสชาติและวิธีเหมือนเดิม) และอาหารมื้อส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัต มีเนื้อให้ทานน้อยมาก พอจะมีปลาน้ำจืดแซมอยู่บ้างประเภทนึ่งซี่อิ้ว (เห็นว่าคนทิเบตไม่กินปลา อ่านต่อตอนท้าย) ที่น่าสนใจคืออาหารเช้าพวกข้าวต้มที่มีแต่น้ำ เม็ดข้าวนี่นับได้เลย ที่คนจีนเขาว่าดื่มโจ๊กนี่แน่แท้มาก ต้องกินพร้อมหมานโถว ไม่งั้นได้คาร์โบไฮเดทไม่ครบ ขนมปังก็อย่าไปหวังมาก คนแถบนี้ไม่ทานกัน หาร้านขนมปังไม่ได้นอกจากเมืองใหญ่ๆ เพราะในที่ราบสูงออกซิเจนน้อยทำให้ไฟติดอยากกว่าและไม่แรง จึงต้มหรือทำอาหารด้วยความร้อนจัดได้ยาก สำหรับขนมปังหากโชคดีหาเจอในร้านสะดวกซื้อที่นำมาขายจากเมืองใหญ่ก็จะราคาสูงมาก คนที่กินยาก ให้เตรียมตัวให้ดี เอาน้ำพริก ซอสภูเขาต่างๆ หมูฝอย หมูแผ่น หมูหยอง บะหมี่สำเร็จรูปรสต่างๆ ขนมขบเคี้ยวโปรดรสต่างๆ ไปด้วยบ้าง


ประชาชนทั่วไปยังแต่งชุดชนพื้นเมืองอยู่

แม้ว่าจีนจะทันสมัยแล้ว แต่ด้วยความชาตินิยมทุกอย่างเป็นภาษาจีน ขนมต่างๆเขียนเป็นภาษาจีนเท่านั้น ระหว่างทริปนี้มีเพื่อนร่วมทริปอยากกินทอฟฟี่นมเพราะเห็นจามารีเยอะ มีขายทุกอย่างของจามรีตั้งแต่เนื้อแห้ง ผลิตภัทณ์นม และขนม เธออ่านภาษาจีนไม่ออก แต่เข้าร้านสะดวกซื้อเจอขนมห่อกระดาษฟอลย์สีเงินเป็นสี่เหลี่ยมก้อนเล็กๆเท่าปลายนิ้วก้อยมามีม้วนปลายสองข้างอย่างน่ารักเหมือนทอฟฟี่ก็จัดมา 1 ถุง แกะมากินเป็นเนื้อจามารีแห้งตัดเป็นสี่เหลี่ยมแบบ Beef Jerky ของฝรั่ง




การเตรียมตัวเดินในอุทยานแห่งชาติย่าติง

ด้วยอากาศที่เบาบางบนความสูงมากกว่า 4,000เมตร การเที่ยวในย่าติงไม่ใช่เรื่องง่าย มีส่วนที่เดินบนทางชันเยอะพอสมควร แม้ทางอุทยานจะปรับพื้นให้ราบมากที่สุดแล้ว แต่ยังคงเป็นทางลาดขึ้นลงตามไหล่เขา มีต้องปีนบ้างพอสมควร ระยะทาง 5กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินกันนานโข ตั้งแต่ 2-4 ชั่วโมง/ขาเดียว แล้วแต่คน แนะนำให้พก:

- เสื้อหนาว => ใส่เสื้อนอกที่สีอ่อน จะได้ไม่ดูดแสง จะได้ไม่รู้สึกร้อนไม่ต้องถอดเสื้อมาเดินรุงรัง เชื่อเถอะเวลานั้นคุณจะไม่อยากถืออะไรเพิ่มเลย มือหนึ่งต้องใช้ไม้เท้า มือหนึ่งถือกระป๋องออกซิเจน ยังไม่รวมที่ต้องถ่ายรูปและจิบน้ำอีก เพราะถอดแล้ว เดี๋ยวก็หนาวต้องใส่ไหม่อีกวนเวียนอย่างนั้นไป

- ผ้าพันคอ => หนาวและลมแรงมาก โดยเฉพาะช่วงช่องเขา

- ผ้าบัฟกันแดด/หน้ากาก => แดดแรงเปรี้ยงมาก

- หมวก => แดดแรงเปรี้ยงมาก

- ถุงมือ => อากาศเย็นมาก ต้องใช้มือจับไม้เท้าและกล้องซุกไม่ได้ และจมูกเล็บอาจฉีกเพราะแห้งเกิน

- แว่นกันแดด => แดดแรงเปรี้ยงมาก

- รองเท้าเดินเขา และไม้เดินเขา => พื้นที่ขรุขระ และบางช่วงมีน้ำท่วม เป็นน้ำแข็งบ้าง

- ลิปมัน => อากาศแห้งมาก

- ครีมกันแดด => แดดแรงเปรี้ยงมาก

- กระติกเก็บความร้อน => พกแทนน้ำขวด แนะนำเป็นน้ำร้อนในกระติกเก็บความร้อน เอาไว้จิบ เพิ่มความอบอุ่นและดับกระหาย ไม่ต้องพกเยอะมาก 300-500ml หากปกติคุณไม่ได้ดื่มน้ำเยอะอยู่แล้ว ระหว่างทางไม่มีขายเลย แต่เอาไปเยอะก็เป็นน้ำหนัก อากาศหนาวไม่หิวน้ำบ่อย มีห้องน้ำแต่ต้องต่อคิวนานไม่แนะนำให้ฉี่ข้างทางเพราะคนเยอะหามุมยากและถือว่าลบหลู่สถานที่

- อาหาร => ของที่เราถือปกติจะหนักขึ้นเป็นอย่างน้อยสองเท่าเวลาเดินอยู่บนที่สูงที่มีอากาศบางเบา ให้ลองสะพายดูก่อนเอาน้ำหนักออกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากที่แบกไหว พกขนมน้ำหนักเบาที่ให้พลังงานสูง ผลไม้ประเภท กล้วย ส้ม เปลือกหนักไม่ต้องเอาไปหรอก หนักเปลือก แอ๊ปเปิ้ลเปลือกบาง กินแล้วชุ่มคอ เอาไปได้ ขนมปังรสต่างๆก็ดี แม้จะได้บรรยากาศมากกว่าถ้าได้มาม่าร้อนๆสักชาม แต่กินแล้วหิวน้ำตัดไปก่อน ที่เห็นชาวจีนนิยมเอาไปกินคือข้าวกล่องสำเร็จรูปหน้าต่างๆ ใช้แสงอาทิตย์ในการอุ่นอาหาร แต่น้ำหนักก็ค่อนข้างหนักพอสมควร ส่วนใหญ่เขาจะแวะกินกันในช่วงครึ่งแรกที่ออกตัวเลย เพื่อจะไม่ถือต่อไป ข้างในอุทยานเมื่อรับบัตรไปแล้ว ไม่มีอะไรขายเลย บนนั้นมีถังขยะเป็นช่วงๆ จึงไม่เห็นขยะทั่วไป แนะให้พกลูกอมเพื่อเพิ่มความชุ่มคอ และเนื่องจากยาที่กิน เราจะคอแห้งง่าย ให้อมยาอมสมุนไพรเม็ดเล็กๆที่มีขายตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไป ตรามังกรทอง ที่ทำจากเปลือกส้ม อมไว้ครั้งละ1-2เม็ดเพื่อเพิ่มความชุ่มคอไม่ให้หิวน้ำบ่อย


ออกซิเจนกระป๋องควรมีไหม?

อย่าเดินเร็วหรือฝืนร่างกาย ถ้าเหนื่อยให้หยุด ซึ่งแรกๆก็เดินได้ 5ก้าวหยุดที หลังๆเหลือ 3ก้าว พบว่าการสูดออกซิเจนช่วยเพิ่มความอึดมากขึ้น สามารถเดินได้ 12-15ก้าวในรวดเดียว กระป๋องหนึ่งสูดได้ราว 100-190 ครั้ง ก็สูดไป แนะนำให้มีติดตัวหนึ่งกระป๋อง น้ำหนักเบามากแต่กินพื้นที่เยอะ


ข้อห้ามในอุทยาน

ห้ามจุดไฟ รวมถึงสูบบุหรี่ ตั้งแคมป์ กางเต้นท์ เดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด เก็บผลไม้ หรือเห็ดกิน และที่สำคัญเคารพสัญลักษณ์ตามความเชื่อและศาสนาต่างๆ ระหว่างทางด้วย


เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย

ชาวทิเบตไม่กินปลา

เรื่องที่ชาวทิเบตไม่กินปลา ทั้งที่มีปลามากมายในแม่น้ำ เขาถือว่า ปลาคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่อดีตชาวทิเบตมีการทำพิธีศพด้วยการปล่อยลอยในแม่น้ำให้ปลากิน พิธีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธมหายาน เพราะเชื่อว่าปลาคือ “ยาน” ที่จะพาทุกดวงวิญญาณให้หลุดพ้น โดยเวลาทำจะเลือกจุดที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว น้ำลึก และที่ดีที่สุดเป็นจุดที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน ตลอดจนต้องมีปลาชุก นอกจากเรื่องพิธีศพชาวทิเบตยังเชื่อว่าการกินปลาถึงว่าต้องสละหลายชีวิตมากกว่าการล้มจามรีชีวิตเดียวกินได้หลายวัน ปลาต้องฆ่าหลายตัว อีกทั้งปลาบนที่ราบสูงก็โตช้าด้วย ถ้าเทียบแบบนี้ ชาวเราชอบกินกุ้งหอยทีละเป็นกองเท่ากับฆ่าชีวิตที่ละมากๆ เมื่อพูดถึงเรื่องนี้หลายคนในทริปมีความเห็นว่ากุ้งหอยเป็นสัตว์ที่มีสมองเล็กมาก และไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่เป็นไร ความเชื่อมันอยู่กันที่การพลิกความคิดจริงๆ เหมือนที่ชาวอินเดียบูชาต้นกระเพราเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวเราเอามาผัดกินกับเนื้อสับราดข้าวร้อนๆ บาปหลายต่อเลยนะเนี้ย ยิ่งสำหรับชาวฮินดูที่ไม่กินเนื้อและบูชากระเพรา แต่เรามองว่าเขาชวดของอร่อยไปอย่างจังเลย


1,605 views

Comments


bottom of page